เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านที่ Muzium Negara พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย

2Baht.com พาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นั่นคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (National Museum) ของประเทศมาเลเซีย หรือที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า Muzium Negara (Negara = National ในภาษามลายู)

ต้องบอกก่อนว่า พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย ไม่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่มีลูกเล่นโดดเด่น หรือตกแต่งอลังการเท่าไรนัก แต่ในแง่ของความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้วอัดแน่นทีเดียว ใครสนใจประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซียตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มาที่นี่ที่เดียวได้ครบถ้วน

ตัวพิพิธภัณฑ์อยู่กลางเมืองกัวลาลัมเปอร์เลย (พิกัด Google Maps) ที่สำคัญคือไม่ไกลจากสถานี KL Sentral ซึ่งเป็นสถานีรถบัส-รถไฟฟ้าหลักของกัวลาลัมเปอร์ ถ้าออกแรงเดินก็ประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ส่วนรายละเอียดการเดินทางด้วยรถบัสดูได้จาก เว็บไซต์ของ Muzium Negara

Museum Negara Map

อัตราค่าเข้าชมสำหรับคนต่างชาติ 5 ริงกิต หรือประมาณ 50 บาท เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 9:00-18:00 น.

ประตูทางเข้าจากที่จอดรถ ทุกคนต้องผ่านประตูนี้ จุดซื้อตั๋วคืออาคารฝั่งขวามือหลังประตู

Muzium Negara

อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคาร 2 ชั้นมี 2 ปีก (หรืออธิบายง่ายๆ มีห้องจัดแสดงหลัก 4 ห้อง) ส่วนอาคารเล็กๆ ฝั่งขวามือเป็นนิทรรศการด้านนอก

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มสร้างในปี 1959 ยุคหลังมาเลเซียได้เอกราช สร้างเสร็จและเปิดบริการปี ค.ศ. 1963

Muzium Negara

มาเลเซียมีบริษัทรถยนต์แห่งชาติ Proton และนี่คือรถยนต์ Proton Saga รุ่นแรกของโลกที่ผลิตออกจากโรงงานในปี 1985 (เป็นความร่วมมือกับมิตซูบิชิ หน้าตาจะคล้ายๆ กัน)

นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ขับรถรุ่นนี้ข้ามสะพานปีนัง เพื่อเปิดสะพานในปีเดียวกัน ถือเป็นความภูมิใจของชาวมาเลเซียที่ผลิตรถยนต์เองได้ และมีสะพานข้ามทะเลแห่งแรกในปี 1985 ทั้งคู่ (รถคันแรกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในปีนัง ส่วนคันนี้เป็นรถล็อตเดียวกันคันอื่น)

First Proton

นิทรรศการด้านในเป็นประวัติของประเทศมาเลเซียนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากประวัติศาสตร์ของผิวโลกบริเวณนี้ก่อน แผ่นเปลือกโลกบริเวณประเทศไทย คาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา อยู่บนแผ่น Sunda หรือ Sundaland ในขณะที่ทวีปออสเตรเลียอยู่บนแผ่นชื่อ Sahul และเกาะทั้งหลายอยู่ตรงระหว่างสองแผ่นโลกนี้ (เส้นแบ่งจะอยู่ระหว่างอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ ตรงเกาะบาหลีพอดี)

Sundaland

การอพยพย้ายถิ่นฐานของพืช สัตว์ มนุษย์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็มาจากแถวๆ ประเทศไทย ไล่ตามเกาะแก่งไปยังมาเลเซีย สุมาตรา ชวา บอร์เนียว

Muzium Negara

อารยธรรมมนุษย์รุ่นแรกๆ ในแถบนี้อยู่ในหุบเขาชื่อ Lembah Bujang หรือ Bujang Valley ในรัฐเคดาห์ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ใกล้กับชายแดนไทย อายุเก่าแก่ราว 2,000 ปี (ก่อนคริสตกาลเล็กน้อย) ค้นพบวัตถุโบราณต่างๆ พบว่าเป็นอารยธรรมที่นับถือศาสนาพุทธ-ฮินดู โดยได้อิทธิพลจากอินเดีย

Lembah Bujang

หุบเขา Lambah Bujang เป็นปากแม่น้ำในอดีต ในพิพิธภัณฑ์มีแสดงแผนที่ให้ดู

Lembah Bujang

ส่วนอาณาจักรโบราณที่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าไล่ตามระยะเวลาก็เริ่มนับจาก อาณาจักรลังกาสุกะ (Langkakusa) ที่อยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย แถบมัสยิดกรือเซะ ปัตตานี น่าจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 2-14 กินเวลานับพันปี อาณาจักรนี้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนด้วย

Langkasuka

เส้นทางการค้าทางทะเล มีติดต่อกับตะวันออกกลาง อาหรับ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น โดยขึ้นกับฤดูของลมทะเลว่าจะไปค้าขายทางฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกในแต่ละช่วงของปี

Malaysia Trade route

แผนที่เส้นทางการค้าขายเฉพาะในภูมิภาคนี้ เมืองหลักคือเคดาห์ที่อยู่ฝั่งตะวันตก ส่วนลังกาสุกะหรือปัตตานี อยู่ฝั่งตะวันออก มีการค้าขายกับอาณาจักรศรีวิชัยบนเกาะสุมาตราด้วย

Malaysia Trade route

ต่อมา ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่หลายในภูมิภาคนี้ โดยมาตั้งหลักที่เมืองมะละกา (Melaka) แล้วกระจายต่อไปยังอินโดนีเซีย

Spread of Islam in Malaysia

ยุคของชาติตะวันตกมาล่าอาณานิคม ประเทศแรกที่เข้ามาในมาเลเซียคือโปรตุเกส เดินทางกันมาไกลทีเดียว มาขึ้นเมืองท่าที่มะละกาเช่นกัน

Protugese in Malaysia

แบบจำลองเรือเดินสมุทรของโปรตุเกส

Protugese Ship

โปรตุเกสมาสร้างป้อมและโบสถ์ไว้ที่มะละกาหลายแห่ง เพราะเป้าหมายช่วงแรกเป็นการเผยแพร่ศาสนาเป็นหลัก ถ้าใครเคยไปเที่ยวมะละกา น่าจะเคยไปป้อมของโปรตุเกสที่อยู่บนเนินเขา

Protugese in Malaysia

มาเลเซียยุคนั้นมีความสัมพันธ์กับสยามเช่นกันในฐานะเมืองประเทศราชที่ยอมอ่อนน้อม ภาพมุมซ้ายล่างเป็นรัชกาลที่ 5 เสด็จไปยังรัฐกลันตันในปี ค.ศ. 1909

King Rama V in Malaysia

ตัวอย่าง “ต้นไม้ทอง” ที่มาเลเซียส่งมาเป็นบรรณาการต่อสยาม

Golden Tree Malaysia to Siam

ถัดจากโปรตุเกสแล้วเป็นยุคของชาวดัทช์ แล้วตามด้วยอังกฤษ ที่มาตั้งอาณานิคมช่องแคบมะละกา หรือ The Straits Settlements ตอนแรกมีสถานะอยู่ในสังกัดของอาณานิคมอินเดียก่อน แต่ภายหลังก็แยกมาเป็นอาณานิคมของตัวเอง

British in Malaysia

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของมาเลเซียคือ ยางพาราและดีบุก ในพิพิธภัณฑ์จึงมีสาธิตเรื่องนี้ให้ดูด้วย อันนี้เป็นโมเดลจำลองการกรีดยาง

Rubber in Malaysia

ตัวอย่างดีบุกที่มาขึ้นรูปเป็นสัตว์ต่างๆ

Tin in Malaysia

ตัวอย่างโรงถลุงแร่ในอดีต ใครนึกไม่ออกลองหาหนังเรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” มาดู คล้ายๆ กัน

Tin Ship

ช่วงสงครามโลก ญี่ปุ่นบุกยึดคาบสมุทรมลายูได้ทั้งหมด ในพิพิธภัณฑ์ก็มีดาบซามูไร และชุดทหารญี่ปุ่นเก็บไว้ให้ดูต่างหน้า

๋Japan in Malaysia WW2

หมดจากสงครามโลก อังกฤษกลับเข้ามาปกครองเหมือนเดิม แต่ชาวมาเลเซียก็เริ่มมองถึงการประกาศเอกราช ทำให้ 3 เผ่าคือ มาเลย์ จีน อินเดีย เริ่มจับมือกันเพื่อเรียกร้องเอกสาร ในภาพเป็นแกนนำคนสำคัญของแต่ละชาติพันธุ์ในยุคนั้น ซึ่งพรรค UMNO ตัวแทนชาวมาเลย์ก็ยังปกครองประเทศมาเลเซียอยู่จนถึงปัจจุบัน

กลุ่ม UMNO เป็นตัวแทนของชาวมาเลย์ ส่วนคนจีนใช้ชื่อพรรค MCA และคนอินเดียคือ MIC

ผู้ชายคนที่สองในภาพ Tunku Abdul Rahman คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย และถือเป็นบิดาของประเทศมาเลเซียยุคเอกราช ส่วนคนที่สาม Abdul Razak คือนายกรัฐมนตรีคนที่สอง และพ่อของ Najib Razak นายกคนปัจจุบัน

UMNO Leaders

การประกาศเอกราชของมาเลเซียในปี 1957 หลังเจรจากับอังกฤษแล้วจบด้วยดี

Malaysia Independent

ฉากจำลองพิธีประกาศอิสรภาพของมาเลเซียในปี 1957 มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทยเราเสด็จไปร่วมพิธีด้วย พิธีนี้จัดที่สนามกีฬาแห่งชาติ และโดยนายกคนแรก Abdul Rahman ตะโกนร้องว่า Merdeka ที่แปลว่า “อิสรภาพ” ทั้งหมด 7 ครั้ง ถือเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพของมาเลเซีย

Malaysia Independent

ช่วงแรกนั้น สิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีข้อพิพาทกันเรื่องเชื้อชาติ และสิงคโปร์ตัดสินใจแยกตัวเป็นอิสระในปี 1965

Singapore Independent

ในพิพิธภัณฑ์ยังมีของสำคัญให้ดูอีกพอสมควร ตัวอย่างเช่น ผ้าโพกศีรษะของสุลต่านในรัฐต่างๆ ของมาเลเซีย

Sultan of Malaysia

โดยสรุปแล้วคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียหรือ Muzium Negara เต็มไปด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมาย แม้ว่าอาคารสถานที่จะเก่าๆ ทึมๆ โบราณไปบ้าง แต่ใครที่อยากได้ความรู้ด้านนี้มาแล้วย่อมไม่ผิดหวัง (แถมค่าเข้าชมก็ไม่แพงเลย) ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อนบ้าน และมุมมองของมาเลเซียที่มีต่อโลก (รวมถึงไทย) ก่อนเข้าสู่ AEC ในช่วงปลายปีนี้

เราแนะนำว่าการมาเยี่ยมชมถ้าให้ได้ประโยชน์ควรมีเวลาพอสมควร เพราะมีตัวหนังสือและข้อความให้อ่านเยอะมากๆ ถ้ามาแบบแป๊บๆ 1-2 ชั่วโมงอาจไม่ได้อะไรกลับไปมากนัก