Penfolds Magill Estate, Australia

พาเที่ยวไร่ไวน์ Penfolds Magill Estate ประเทศออสเตรเลีย

หนึ่งในไวน์ที่น่าจะคุ้นหูคนไทยมากที่สุดและพบได้แทบจะทุกงานเลี้ยง คงหนีไม่พ้นไวน์ยี่ห้อ Penfolds ของออสเตรเลีย ซึ่งจัดว่าเป็นไวน์ระดับแนวหน้าของออสเตรเลีย ที่มีตั้งแต่ราคาไม่กี่พัน ไปจนถึงหลักหมื่น (และในรุ่นหรือล็อตแปลกๆ ราคาจะไปที่หลักแสนจนถึงล้าน) ให้ได้หาซื้อเป็นเจ้าของเพื่อดื่มหรือลงทุน

แต่ครั้งนี้ 2baht.com ไม่ได้มากล่าวถึงไวน์จากค่าย Penfolds แต่จะพาไปเที่ยวที่ไร่ของ Penfolds ที่เรียกว่า Magill Estate ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองของ Adelaide รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และถือเป็นไร่ไวน์ไม่กี่แห่งบนโลก ที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง (อีกแห่งคือ Chateau Haut-Brion ที่เขต Graves ของฝรั่งเศส)

รู้จัก Penfolds และ Magill Estate

ปัจจุบัน Penfolds เป็นหนึ่งในแบรนด์ไวน์ของบริษัท Treasury Wine Estates บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไวน์ของออสเตรเลีย โดยมีไร่ไวน์ในเครืออื่นๆ อย่างเช่น Lindemans และ Rosemount Estate รวมอยู่ด้วย

Penfolds ก่อตั้งโดย Christopher Penfold ที่อพยพมาจากอังกฤษเพื่อมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลียเมื่อปี 1844 (ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ) ในตอนแรก Penfolds เป็นค่ายที่เน้นการผลิตไวน์ประเภทไวน์ผสม (Fortified Wine คือไวน์ที่ผสมแอลกอฮออล์อื่น เช่น บรั่นดี ทำให้หยุดการหมักลง) จากนั้นจึงเริ่มผลิตไวน์ทั่วไป (dry wine/table wine) ทั้งไวน์ขาวและไวน์แดง บริษัทมีชื่อเสียงโด่งดังจากไวน์ Penfolds Grange ที่ถือเป็นไวน์ระดับตำนานของออสเตรเลีย สามารถนำไปแข่งกับไวน์ชั้นเลิศของฝรั่งเศสได้ไม่ยาก

ในปัจจุบัน Penfolds มีทั้งไร่ของตัวเองและรับซื้อองุ่นปลูกจากกสิกรตามเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาผลิตไวน์ โดยกำลังการผลิตหลักอยู่ที่โรงไวน์ใน Nuriootpa ที่หุบเขา Barossa Valley ตอนเหนือของ Adelaide และอีกหนึ่งแห่งซึ่งเป็นทั้งไร่ไวน์และโรงผลิตไวน์ คือ Magill Estate ไร่ดั้งเดิมของบริษัท ตั้งอยู่ที่เขต Magill ชานเมือง Adelaide โดยอยู่ท่ามกลางเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถบนี้ และมีไวน์เพียงตัวเดียวที่ยังคงผลิตที่นี่ คือ Penfolds Magill Estate ซึ่งใช้องุ่นที่ปลูกจากไร่ที่นี่ทั้งหมด (ในภาษาทางการคือ Monopole) และที่ไร่นี้ก็มีภัตตาคารของไร่ด้วย (ข้อมูลล่าสุดตอนนี้คือเปิดเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น)

การจะเข้าชมไร่ไวน์ที่ Magill Estate จำเป็นต้องสำรองทัวร์ล่วงหน้า ทัวร์มีเป็นรอบๆ สามารถติดต่อไปยังทาง Penfolds ได้โดยตรง (ตามนี้) ทั้งนี้หากต้องการเดินสำรวจรอบ ๆ ไร่ก็สามารถทำได้ทันทีไม่มีข้อห้ามอะไร ยกเว้นว่าต้องการเข้าไปดูการผลิตจึงจะต้องจองทัวร์ครับ ค่าเข้าชมอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และตอนจบจะมีไวน์ให้ชิมด้วยครับ

ในกรณีที่อยากได้ประสบการณ์ด้านไวน์แบบเต็มๆ ก็สามารถจองทัวร์แบบแพงสุด (คนละ 150 ดอลลาร์ออสเตรเลีย) ซึ่งจะมีการชิมไวน์ในบริเวณที่เก็บไวน์ด้วย

สำหรับการเดินทาง สามารถนั่งรถบัสออกจากตัวเมืองของ Adelaide หรือถ้าอยากทรหดอดทนหน่อย ก็สามารถเดินได้จากใจกลางเมืองเช่นกัน โดยระหว่างทางจะเป็นบ้านคนทั้งหมด แต่ใกล้ๆ กับไร่จะมีร้านเบเกอรี่อร่อยอยู่เจ้าหนึ่ง ซึ่งสามารถไปฝากท้องได้ครับ แต่หนทางที่ดีที่สุดคือการขับรถออกมาจากทางตัวเมืองไปทาง Kensington Road ได้โดยตรงครับ (แผนที่บน Google Maps)

บรรยากาศโดยรอบ

ทางเข้าของไร่จริงๆ จะอยู่ตรงถนนที่ชื่อ Penfold Road โดยหัวมุมของไร่ที่จรดกับถนน The Parade จะมีป้ายแสดงชื่อไร่เอาไว้ชัดเจน (ในกรณีขับมาจากถนน The Parade)

Penfolds Magill Estate, Australia

ตัวไร่วางอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ โดยส่วนที่เป็นตัวโรงไวน์จะอยู่บนจุดสูงสุดของไร่ สังเกตได้จากปล่องที่ไร่ครับ

Penfolds Magill Estate, Australia

Penfolds Magill Estate, Australia

เวลาเดินหรือขับรถเข้ามา เส้นทางเข้าไร่จะผ่านส่วนที่เป็นไร่ไวน์และบ้าน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของผู้ก่อตั้งไร่ครับ แม้บรรยากาศจะสวยงาม แต่มีคำเตือนที่ผู้มาเยี่ยมไร่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาก (ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย) คือห้ามเดินเข้าไปในไร่องุ่นที่กำลังปลูกโดยเด็ดขาด สาเหตุเพราะเนื่องจากองุ่นที่นี่ใช้รากดั้งเดิมในการปลูก ไม่ได้ใช้รากจากองุ่นที่อื่นมาตัดตอนแล้วทาบกิ่งเข้าไปครับ (ในภาษาทางการเรียกว่าเป็น ungrafted)

Penfolds Magill Estate, Australia

ถามว่าทำไมเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ คำตอบก็คือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุโรปมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยองุ่น (Phylloxera) ซึ่งจะไปทำลายรากของต้นองุ่นยุโรปที่เอาไว้ทำไวน์ (Vitis Vinifera) ที่ไม่สามารถต้านทานเพลี้ยองุ่นชนิดนี้ได้ ทางแก้คือใช้ราก (rootstock) ขององุ่นพันธุ์อื่นที่ต้านทานเพลี้ยชนิดนี้แทน ในออสเตรเลียก็มีการพบเพลี้ยตัวนี้ด้วยเช่นกัน วิธีการหนึ่งที่มันสามารถแพร่ระบาดได้คือดิน และดินเหล่านี้สามารถติดรองเท้ามาได้ด้วย ทำให้มีความเสี่ยงหากมีคนเดินเข้าไปครับ ดังนั้นแล้วหลายๆ ไร่ที่ยังคงมีต้นองุ่นแบบ ungrafted อยู่ จึงห้ามคนเข้าไปเดินเล่นในไร่เด็ดขาด หรือหากจะเข้าไปจริงๆ (ในกรณีพิเศษต่างๆ เช่น คนทำไวน์ หรือ winemaker พาเข้า) ก็ต้องมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในรองเท้ากันขนานใหญ่เสียก่อน

012

เมื่อเดินตามทางขึ้นถึงโรงผลิตไวน์ หากหันกลับออกไปยังทางเข้า จะเป็นวิวที่สามารถเห็นตัวเมือง Adelaide ได้จากระยะไกล (ในภาพคือขวามือ)

Penfolds Magill Estate, Australia

ตัวอาคารยังคงเป็นอาคารแบบดั้งเดิมในคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งถ้าไปช่วงฤดูใบไม้ร่วงจนถึงต้นหน้าหนาว จะสวยงามมาก มีอาคารอยู่หลายหลังและลักษณะจะคล้ายๆ กันครับ

006

ภายในโรงผลิตและบ่มไวน์

ภายในไร่ของ Magill Estate นั้น ส่วนที่เป็นการปฏิบัติงาน (Winery Operation) จะมีสองส่วน คือส่วนที่ทำไวน์ และห้องเก็บไวน์ที่อยู่ใต้ดิน (อากาศค่อนข้างเย็น ใครเป็นคนไม่ชอบหนาวควรมีเสื้อคลุมไปด้วย) โดยในส่วนแรกจะเป็นเครื่องจักรกลในการผลิตไวน์เป็นหลัก ซึ่ง Magill Estate ยังคงใช้แรงงานคนอยู่ค่อนข้างมาก (ขณะที่ Nuriootpa ไร่อีกแห่งของ Penfolds เป็นเครื่องจักรกลเกือบทั้งหมดแล้ว)

007

ถัดจากส่วนผลิตไวน์ ก็จะเป็นชั้นใต้ดินที่เก็บไวน์และบ่มไวน์ มีทั้งถังหมักบ่มไวน์ขนาดใหญ่ (ปกติมักใช้กับไวน์อย่าง St Henri Shiraz) และถังหมักขนาดทั่วไปครับ (ในภาพคือถังใหญ่ ลองเทียบกับคนนำทัวร์ครับ)

008

ในส่วนนี้เองมีการจัดแสดงไวน์ตัวสำคัญๆ ของไร่ไว้ด้วย โดยเฉพาะ Penfolds Grange ที่มีครบแทบทุกปี (จากภาพมีทั้งรุ่นแรกๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันราคาหลักแสนไปจนถึงล้านบาท)

009

010

หมดจากส่วนผลิตไวน์และหมักไวน์ เจ้าหน้าที่ของไร่ซึ่งเป็นคนนำทัวร์จะพาขึ้นไปบริเวณที่จำหน่ายไวน์ (แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายคนอาจจะรอคอย) เพื่อทำการชิมไวน์ของ Penfolds ซึ่งมีทั้งตัวแปลกๆ และตัวที่วางจำหน่ายทั่วไปด้วย โดยหากชอบใจก็สามารถหาซื้อกลับไปได้ (ตัวแนะนำก็คงหนีไม่พ้น Magill Estate ของไร่นี้ ด้วยจำนวนการผลิตที่ค่อนข้างน้อยนั่นเอง)

Penfolds Wine, Australia

สรุป

013

ไร่ไวน์ Penfolds Magill Estate ถือว่าเป็นหนึ่งในไร่ไวน์ที่น่าสนใจอย่างมาก ด้วยเพราะเป็นไร่ไวน์เก่าแก่ของออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงาม เป็นหนึ่งในจุดที่น่ามาท่องเที่ยวอย่างมาก (อย่างน้อยที่สุดก็ถ่ายรูป) และถ้าเป็นคนชอบไวน์ก็จะเข้าถึงกับบรรยากาศได้เป็นอย่างดีด้วย

ช่วงเวลาที่น่าท่องเที่ยวหากจะมาเอาบรรยากาศก็คงเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงไปถึงต้นฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่องุ่นจะเก็บเกี่ยวพอดี ซึ่งก็จะได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง รวมถึงมีการผลิตไวน์อยู่ระหว่างนั้นด้วย ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมในเวลาเดียวกันครับ