Petrosains Petronas

พาเที่ยว Petrosains – ใต้ตึกแฝด Petronas ไม่ได้มีแค่ห้าง แต่มีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย คือตึกแฝด Petronas อดีตแชมป์ตึกที่สูงที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปี ไม่ว่าใครที่มากรุงกัวลาลัมเปอร์ครั้งแรกย่อมอยากมาถ่ายรูปกับตึกแฝดนี้

ตึกแฝด Petronas ตั้งอยู่ในจุดที่เรียกว่า KLCC หรือ Kuala Lumpur City Center ซึ่งตัวตึกใช้เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petronas และชั้นล่างเป็นห้างสรรพสินค้า Suria KLCC (ปัจจุบันมาเลเซียมีห้างเปิดใหม่อีกหลายห้างอยู่บริเวณใจกลางเมือง เช่น Pavilion เป็นตัวเลือกที่หรูกว่า Suria KLCC)

คนไทยที่ไปดู Petronas มักใช้เวลาถ่ายภาพกับตัวตึกไม่นานนัก ส่วนเวลาที่เหลือก็ใช้เดินเล่น ช็อปปิ้ง หรือนั่งกินกาแฟในห้าง KLCC ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว KLCC ยังมี “ของแปลก” อย่างพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้หลบซ่อนอยู่ด้วยครับ

petrosans

Petrosains ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ศูนย์การเรียนรู้ของตึก Petronas มีชื่อว่า Petrosains เป็นโครงการกึ่งๆ CSR ของบริษัท Petronas เจ้าของตึกนั่นเอง ทางศูนย์ Petrosains เรียกตัวเองว่าเป็น The Discovery Center หรือ “ศูนย์การเรียนรู้” เป้าหมายคือเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ และผู้ใฝ่รู้ได้เพิ่มรอยหยักสมองด้านวิทยาศาสตร์ และธุรกิจของ Petronas ให้มากขึ้น

รูปแบบของ Petrosains จะคล้ายกับมิวเซียมสยาม เพียงแต่อาจเปิดมานานกว่า ของจัดแสดงเลยดูเก่ากว่าบ้าง แถมยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของบริษัทเอกชน จึงมี agenda เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของบริษัทแทรกเข้ามาบ้าง (แต่ก็ไม่น่าเกลียดเท่าไร)

Petrosains Petronas

ทางเข้าศูนย์ Petrosains จะอยู่ในห้าง Suria KLCC นั่นล่ะครับ ชั้น 4 (บนสุด) ตรงกลางห้างเลย

Petrosains Petronas

วิธีมาง่ายที่สุดคือขึ้นลิฟต์มา จะเจอร้านหนังสือ Kinokuniya อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน

Petrosains Petronas

เนื่องจากมันเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นหลัก (แต่ผู้ใหญ่ก็เข้าได้นะ) ดังนั้นสิ่งที่เจอแน่ๆ คือนักเรียนเพียบ วิ่งกันเจี๊ยวจ๊าว

Petrosains Petronas

ค่าตั๋วเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ (ไม่มีบัตรประชาชนมาเลเซีย) ผู้ใหญ่ทั่วไปราคา 25 ริงกิต หรือประมาณ 225 บาท (แอบแพงเล็กน้อย) ถ้ามีเวลาพอสมควรและขยันอ่าน ก็ถือว่าคุ้มอยู่ เพราะเราต้องใช้เวลาในนี้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

Petrosains เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ (ตามแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไป) โดยเริ่มเปิด 9:30 น. และปิด 17:30 น. ถ้าเป็นวันธรรมดา หรือ 18:30 น. ถ้าเป็นวันหยุด รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์

petrosains ticket

เมื่อซื้อตั๋วเข้ามาแล้ว Petrosains จะวางผังแบบบังคับเดินได้ทางเดียว มีห้องต่างๆ ตามภาพ ตอนเริ่มต้นจะต้องนั่งรถรางเข้าห้องมืดเพื่อชมวิวทิวทัศน์จำลองในยุคดึกดำบรรพ์ (จำลองเหมือนพาเข้าสู่โลกมหัศจรรย์ของ Petrosains พยายามอินกันหน่อยนะ) แล้วก็เดินในห้องต่างๆ พอถึงห้องสุดท้ายก็จะนั่งรถรางออกสู่โลกความเป็นจริงเช่นเดิม (ตบท้ายด้วยร้านขายของที่ระลึก)

Petrosains Map

การจัดแสดงใน Petrosains ห้องแรกๆ เป็นการแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นของมาเลเซีย

Petrosains Malaysia

ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์อย่างภาพโฮโลแกรมบนโต๊ะ ที่เหมือนมีของอยู่จริงๆ แต่เอามือแตะไม่มีอะไร

Petrosains Malaysia

เครื่องทำพายุหมุนจำลอง อันนี้สนุกดี เหมือนเราเข้าไปอยู่ใจกลางเฮอริเคนแบบหนังเรื่อง Twister (ใครทันนี่แก่มากๆ)

Petrosains Malaysia

เป้าหมายหลักของ Petrosains คืออธิบายธุรกิจด้านขุดเจาะน้ำมันให้คนทั่วไปรับรู้ ดังนั้นก็ต้องมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของปิโตรเลียมกัน ย้อนอดีตตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ด้วย T-Rex ตัวใหญ่ยักษ์ ขยับหัวได้

Petrosains T-Rex

แมกม่าจำลองจากภูเขาไฟ สอนเรื่องชั้นหินในอดีตกาลอันไกลโพ้น

Petrosains Magma

ข้างทางก็มีบอร์ดอธิบายชั้นหินและแหล่งน้ำมันในแถบมาเลเซียครับ บอร์ดเป็นสองภาษาทั้งมาเลย์และอังกฤษ

Petrosains Oilfield

อธิบายการทับถมของซากพืชซากสัตว์ จนกลายเป็นปิโตรเลียม

Petrosains Layer

ความแตกต่างของชั้นหินในบริเวณต่างๆ ของมาเลเซีย

Petrosains Layer

ห้องต่อมาเป็นศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบมีของเล่นให้ลองเอง มีทุกอย่างตั้งแต่พวกทดสอบแรงดัน ต่อบล็อคให้ตั้งอยู่ได้ ไฟฟ้า แม่เหล็ก ลม

Petrosains Science

เด็กเพียบบบบบบ แน่นอนว่าเด็กๆ ชาวมาเลย์ก็สนุกกันมาก เล่นกันมันทุกอย่าง

Petrosains Science

เครื่องเล่นที่แอดวานซ์สุดคืออันนี้ มันคือ “เครื่องขุดแร่จำลอง” เราต้องฝึกกวาดแร่ให้ถัง แล้วดึงผ่านเครนไปเข้าสู่โรงย่อย เล่นแข่งกันเป็นทีมได้ด้วย เด็กแย่งกันสุดๆ ต่อคิวรอเล่นกันเพียบ

Petrosains Science

ของเล่นพวกจอภาพโปรเจคเตอร์ที่จับความเคลื่อนไหวของมือหรือตัวก็มี แต่ของแนวๆ นี้เริ่มไม่ใหม่แล้ว ที่ไหนก็มี

Petrosains Science

เครื่องเล่นแบบที่เข้าไปนั่งแล้วฉายหนัง 4 มิติก็มี แต่เราไม่ได้ลองเล่นเพราะไม่มีเวลา

Petrosains Science

ห้องถัดมาคือจำลองสภาพ “แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล” ให้เห็นภาพว่าวิศวกรของ Petronas ไปเจาะน้ำมันเพื่อประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

Petrosains Platform

แท่นควบคุมพร้อมตัวอย่างหัวสว่านสำหรับขุดเจาะลงไปหาปิโตรเลียม

WP_20140408_09_40_36_Pro

การขนส่งของบนแท่นขุดกลางทะเล ใช้รอกแบบนี้เข้าช่วย

Petrosains Platform

สภาพห้องนอนของเจ้าหน้าที่ขุดเจาะบนแท่นกลางทะเล เหมือนอยู่บนเรือรบคือห้องแคบๆ

Petrosains Platform

ตัวอย่างอาหารการกิน เจาะน้ำมันแล้วเขากินข้าวกันอย่างไร โรงครัวหน้าตาแบบนี้

Petrosains Platform

ดูจบแล้วจงมาทำงานกับเรา Petronas ไม่ได้กล่าวแต่อยากให้เราทำแบบนั้น

Petrosains Platform

เนื่องจาก Petronas มีทีมแข่งรถ F1 ด้วย ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ Petrosains เลยต้องมีห้องที่เกี่ยวกับรถแข่ง ใช้ชื่อว่า Speeds: The Science of Racing

Petronas Speeds

ใจความหลักของห้องนี้คือ “ความเร็ว” ของเล่นก็อย่างเช่น อุโมงค์วัดความเร็ว ให้เราลองปาบอลอัดเป้าแล้ววัดว่าเราปาบอลได้เร็วแค่ไหน

Petronas Speeds

ถ้าเป็นเด็กๆ ก็มีรถแข่ง F1 จำลองให้ลองเล่น อุปกร์ณพวกสกีจำลองให้ทดสอบการทรงตัวก็มีนะ

Petronas Speeds

โมเดลสอนการทำงานของการเผาผลาญน้ำมันในรถแข่ง F1

Petronas Speeds

ตัวอย่างรถแข่ง F1 คันเท่าของจริง

Petronas Speeds

Petrosains ยังมีนิทรรศการอีกหลายอย่าง ที่คัดมาให้ดูนี้เฉพาะอันไฮไลท์เท่านั้นครับ ดูรายชื่อห้องทั้งหมดได้จาก เว็บไซต์ Petrosains นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีกิจกรรมหมุนเวียนจัดอยู่เรื่อยๆ ใครสนใจก็ติดตามข่าวสารได้ผ่านหน้าเว็บหรือ Facebook Page

โดยสรุปแล้วคือดูแล้วได้ความรู้ดี แต่ต้องขยันอ่านและมีเวลาอ่านพอสมควร ตอนที่เราไปมีเวลาไม่มากนักเลยอ่านข้ามๆ ไม่ได้ดูแบบละเอียดเท่าไร ซึ่งก็แอบเสียดายเหมือนกัน

ในแง่การท่องเที่ยวแล้วถือว่าขึ้นกับเวลาและเป้าหมาย ถ้าจะดั้นด้นมาถึง KLCC เพื่อเข้าชม Petrosains อาจไม่คุ้มเท่าไรนัก แต่ถ้ามารอคนอื่นช็อปปิ้งที่ Suria KLCC แล้วไม่มีอะไรทำ และมีเวลาว่างสัก 1-2 ชั่วโมงแบบยาวๆ จะลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเดินใน Petrosains ก็ไม่เสียหลาย แถมยังได้ความรู้ด้วย (บ้านเราน่าจะมีศูนย์แบบนี้ในห้างเยอะๆ หน่อย มิวเซียมสยามทำดีแต่ก็อยู่ไกลเมืองมากๆ)

วิธีการเดินทาง

ง่ายมากเพราะถ้ามากับทัวร์หรือมีรถมา ยังไงรถก็มาส่งที่ตึก Petronas/KLCC อยู่แล้ว แต่ถ้ามาเอง นั่งรถใต้ดินมาลงสถานี KLCC (KJ10) แล้วโผล่ใต้ตึกเลย เดินขึ้นมาชั้น 4 ตรงลิฟต์กลางก็เจอทันที ไม่มีอะไรซับซ้อน แผนที่ดูได้จากเว็บของ Petrosains หรือ Google Maps

เวลาเปิดทำการ:

  • จันทร์: ปิด
  • อังคาร-ศุกร์: เปิด 9:30 น., ปิด 17:30 น. (ให้เข้าถึงแค่ 16:00 น.)
  • เสาร์-อาทิตย์: เปิด 9:30 น., ปิด 18:30 น. (ให้เข้าถึงแค่ 17:00 น.)

ค่าตั๋ว (สำหรับคนต่างชาติ)

  • ผู้สูงอายุ (56 ปีขึ้นไป): 18 ริงกิต
  • คนทั่วไป (18-55 ปี)): 25 ริงกิต
  • เยาวชน (13-17 ปี): 20 ริงกิต
  • เด็ก (3-12 ปี): 15 ริงกิต
  • เด็กกว่านั้นเข้าฟรี