รู้จัก Priority Pass บัตรใบเดียวเข้าเลาจ์สนามบิน 700 แห่งทั่วโลก

ช่วงหลังๆ มานี้เราเริ่มเห็นบัตรเครดิตในระดับ “ซูเปอร์พรีเมียม” เข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากขึ้น ตัวอย่างบัตรเครดิตเหล่านี้ได้แก่ Wisdom ของกสิกรไทย, SCB First ของไทยพาณิชย์, Krungsri Signature, Citibank Ultima เป็นต้น

สิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่บัตรเครดิตระดับสูงเหล่านี้มีคล้ายๆ กันคือ สิทธิในการใช้เลาจ์ (lounge) สนามบินทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องซื้อตั๋วชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่งจากสายการบินแต่อย่างใด สิทธินี้ต้องใช้ผ่านบัตร Priority Pass ที่ธนาคารจะส่งมาให้เราใช้งานเพื่อเป็นบัตรผ่านเข้าเลาจ์ทั้งหลาย

หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าบัตร Priority Pass นี้มีประโยชน์แค่ไหนอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง วันนี้เว็บไซต์ 2Baht.com จะพาไปดูสิทธิประโยชน์ของเจ้า “บัตรเบ่ง” ใบนี้กัน

priority pass card

รู้จักบัตร Priority Pass

บัตร Priority Pass เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Collison Group ซึ่งทำธุรกิจด้านการให้บริการลูกค้าระดับไฮโซพรีเมียมวีไอพี การสะสมแต้ม สิทธิประโยชน์ ผู้ช่วยส่วนตัว ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว

Collison Group เริ่มออกบัตร Priority Pass ในปี 1992 โดยมีเป้าหมายว่าต้องการจับกลุ่มลูกค้าที่เดินทางบ่อยๆ (frequent traveler) ที่ต้องการใช้บริการเลาจน์สนามบินเป็นประจำ แต่ไม่ต้องการวุ่นวายไปกับการสมัครบัตรสมาชิกของแต่ละสายการบิน หรือต้องมานั่งสะสมไมล์ให้ครบทุกสายการบินที่ใช้งาน

ตอนแรกสุดในปี 1992 บัตร Priority Pass สามารถใช้ได้กับเลาจ์ 55 แห่งในสนามบิน 49 แห่งเท่านั้น ปัจจุบันปี 2015 จำนวนเลาจ์ที่รองรับเพิ่มมาเป็น 700 แห่งใน 120 ประเทศ นักเดินทางที่ต้องการความง่ายในชีวิต ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิก Priority Pass แล้วเดินเข้าเลาจ์เหล่านี้ได้ทันที

priority pass

อัตราค่าธรรมเนียม

ใครๆ ก็สามารถสมัครบัตร Priority Pass ได้ถ้ามีเงินพอ อัตราค่าสมาชิกของบัตรที่แสดงบนเว็บไซต์ มี 3 ระดับ

  • Standard – สมาชิกแบบถูกที่สุด ค่าธรรมเนียม 99 ดอลลาร์ต่อปี ค่าเข้าใช้บริการเลาจ์ครั้งละ 27 ดอลลาร์ต่อคนต่อครั้ง
  • Standard Plus – ค่าธรรมเนียม 249 ดอลลาร์ต่อปี สมาชิกใช้บริการเลาจ์ได้ฟรี 10 ครั้ง หลังจากนั้นจ่ายเพิ่ม 27 ดอลลาร์ต่อครั้ง ถ้ามีผู้ติดตามด้วยเสีย 27 ดอลลาร์เท่ากัน (แต่ผู้ติดตามไม่อยู่ในสิทธิเข้าฟรี 10 ครั้ง)
  • Prestige – สมาชิกแบบแพงที่สุด ค่าธรรมเนียม 399 ดอลลาร์ต่อปี สมาชิกใช้บริการเลาจ์ไม่จำกัด ส่วนผู้ติดตามจ่ายเพิ่ม 27 ดอลลาร์ต่อครั้ง

บัตรเครดิตในบ้านเราจะซื้อสิทธิเหล่านี้ไปแจกลูกค้าอีกต่อหนึ่งนั่นเอง ส่วนจะเป็นสิทธิระดับไหนก็ขึ้นกับนโยบายของแต่ละธนาคาร และระดับความพรีเมียมของบัตรนั่นเอง (แต่ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกบัตรเครดิต แล้วอยากซื้อ Priority Pass เองก็ย่อมได้เช่นกัน)

Priory Pass Membership Fee
ตารางค่าธรรมเนียม Priority Pass

Priority Pass เข้าเลาจ์ไหนได้บ้าง

เมื่อได้บัตร Priority Pass มาครอบครองแล้ว คำถามต่อไปที่หลายคนสงสัยคือบัตรนี้ใช้เข้าเลาจ์ไหนได้บ้าง เวลาไปต่างประเทศจะได้ใช้งานคุ้มค่ากันหน่อย

เนื่องจากตอนนี้ Priority Pass สามารถเข้าเลาจ์ได้มากกว่า 700 แห่งทั่วโลก การจะแสดงรายชื่อทั้งหมดคงทำได้ยาก ผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าเลาจ์ไหนรองรับบัตร Priority Pass บ้าง สามารถตรวจสอบได้หลายทาง

สำหรับเลาจ์ในประเทศไทยที่รับบัตร Priority Pass มี 3 สนามบิน ดังนี้

  • สนามบินสุวรรณภูมิ (BKK)
    เข้าเลาจ์ Louis’ Tavern แบบ First Class ได้ทุกจุดในสนามบิน (Concourse A/C/F/G) นั่งได้นานสูงสุด 2 ชั่วโมง เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง
  • สนามบินนานาชาติภูเก็ต (HTK)
    เลาจ์ Coral Executive Lounge (Gate 7) นาน 3 ชั่วโมง, เลาจ์ Lux – The Luxury Lounge (Gate 4) นาน 3 ชั่วโมง
  • สนามบินสมุย (USM)
    เลาจ์ Blue Ribbon Club Lounge (ในประเทศ) นาน 3 ชั่วโมง, เลาจ์ Blue Ribbon Club Lounge (ระหว่างประเทศ) นาน 3 ชั่วโมง

priority pass lounge

ส่วนประเทศยอดฮิตที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกัน ขอคัดรายชื่อสนามบินยอดนิยมมาเพียงบางส่วน ดังนี้

  • สิงคโปร์ สนามบิน Changhi (SIN)
    • Terminal 1: The Skyview Lounge, Airport Wellness Oasis, Sats Premier Lounge, Plaza Premium Lounge
    • Terminal 2: Sats Premier Lounge, The Green Market, Ambassador Transit Lounge
    • Terminal 3: Ambassador Transit Lounge, The Haven by Jetquay, Sats Premier Lounge, Dnata Lounge
  • ฮ่องกง สนามบิน Chek Lap Kok (HKG)
    • Plaza Premium Lounge ทั้ง Terminal 1 และ 2
  • โตเกียว สนามบินนาริตะ (NRT)
    • Terminal 1: Kal Business Class Lounge, T.E.I, Iass Executive Lounge
    • Terminal 2: Iass Executive Lounge
  • โอซาก้า สนามบินคันไซ (KIX)
    • North Terminal: Kal Business Class Lounge
  • โซล สนามบินอินชอน (ICN)
    • Concourse A: Kal Lounge, Asiana Lounge
    • Main Terminal: Matina, Sky Hub, Asiana Business Lounge
  • ลอนดอน สนามบิน Heathrow (LHR)
    • Terminal 2: Plaza Premium Lounge
    • Terminal 3: No.1 Heathrow, Swissport Lounge
    • Terminal 4: Skyteam Lounge, Plaza Premium Lounge
  • ปารีส สนามบิน Charles De Gaulle (CDG)
    • Terminal 1: Icare Lounge
    • Terminal 2A: Air Canada Maple Leaf Lounge
  • แฟรงก์เฟิร์ต สนามบิน Main (FRA)
    • Terminal 1: Luxxlounge
    • Terminal 2: Sky Lounge
  • มิวนิก สนามบิน Franz-Josef Strauss (MUC)
    • Terminal 1: Atlantic Lounge, Europa Lounge
  • แอลเอ สนามบิน Los Angeles International (LAX)
    • Terminal 2: Air Canada Maple Leaf Lounge
    • Terminal 3: The Virgin America Loft
    • Terminal 6: Alaska Airlines Board Room
    • Tom Bradley International Terminal: Kal Lounge
  • นิวยอร์ก สนามบิน JFK (JFK)
    • Terminal 1: Kal Business Class Lounge
    • Terminal 4: Wingtips Lounge

หมายเหตุ: รายชื่อเลาจ์ที่ใช้กับ Priority Pass มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เดือนเมษายน 2015 สายการบิน United Airlines ของสหรัฐ เลิกสัญญากับ Priority Pass ทำให้ผู้ถือบัตรไม่สามารถใช้งานเลาจ์ในเครือ United Club ทั่วสหรัฐอเมริกาได้อีกแล้ว (ข่าวจากเว็บไซต์ Business Traveller) ดังนั้นเราแนะนำว่าควรตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนเดินทางเสมอ – 2Baht

หากสนใจสามารถสมัคร Priority Pass ได้ที่ www.prioritypass.com/en/join

คุณสามารถติดตามข้อมูลการท่องเที่ยวจากเรา ที่ facebook “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทาง

เนื้อหารวบรวมโดยเว็บไซต์ 2Baht.com ห้ามคัดลอกและทำซ้ำก่อนได้รับอนุญาต