First in war, first in peace, first in the hearts of his countrymen.
หนึ่งในศึก หนึ่งในสันติ หนึ่งในใจแห่งปวงประชา
จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา
แม่ทัพผู้ชาญศึกแห่งรัฐอาณานิคมเวอร์จิเนีย ออกรบครั้งแรกใต้ร่มธงบริเตนเพื่อสู้ศึกกับฝรั่งเศส-อินเดียนพื้นเมือง พยายามขัดขืนคำสั่งที่โง่เง่าของแม่ทัพอังกฤษ ซึ่งทำให้ทั้งกองพันเกือบละลายทิ้งในป่า แต่วอชิงตันพลิกสถานการณ์พาทหารรอดกลับมาได้
ความสามารถทางการรบนี้ ทำให้จอร์จ วอชิงตัน กลายเป็นผู้บัญชาการของกองทัพเวอร์จิเนีย และก้าวเข้าสู้ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีปในการรบประกาศอิสรภาพกับจักรวรรดิอังกฤษในยามรุ่งโรจน์
แม้แต้มต่อจะห่างไกล กองทัพอังกฤษข้ามทะเลมาด้วยจำนวนกว่าสามหมื่น อาวุธและเสบียงพร้อมมูล ชาวสิบสามอาณานิคมกึ่งหนึ่งยังอยากอยู่ใต้ร่มธงยูเนียนแจ็ค แต่เหล่าบิดาผู้ให้กำเนิดประเทศก็รวมตัวกันเซ็นคำประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1776 และประกาศต่อสาธารณชนในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776
หากทว่า เหล่านักคิด นักธุรกิจ นักปรัชญาเหล่านั้น จะทำอะไรต่อไปไม่ได้เลย หากไร้ตัวตนของจอร์จ วอชิงตัน แม่ทัพสูงสุดผู้ตีฝ่ากองทัพอังกฤษ และเอาชนะสงครามท่ามกลางทหารป่วยและความหนาวเหน็บในศึกข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ที่เทรนตัน และปิดฉากด้วยการล้อมจับนายพลคอร์นวอลลิสที่ศึกยอร์คทาวน์ เพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพและเอกราชสมบูรณ์ของอเมริกา
หลังสงครามประกาศเอกราช จอร์จ วอชิงตัน ยิ่งโชนฉายความเป็นรัฐบุรุษแห่งอเมริกาและมหาบุรุษแห่งโลก ด้วยการคืนอำนาจบังคับบัญชาทหารอาสาทั้งมวลกลับสู่สภา และกลับสู่ประชาชน
แม้นายทหารคนสนิท และทหารผ่านศึกที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างโชกเลือดและไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงทดแทนที่เหมาะสม จะรวมหัวกันวางแผนลงชื่อก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากคองเกรสที่นิวเบิร์ก หวังจะยกจอร์จ วอชิงตัน ขึ้นเป็นกษัตริย์จอร์จที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักรอเมริกา แต่วอชิงตันก็ไม่สนใจ ทั้งห้ามปรามและขู่ว่าจะลงโทษตามวินัยทหาร ก่อนจะนำรายชื่อทหารคนสนิทเหล่านั้นไปยื่นต่อคองเกรสด้วยตัวเอง
จอร์จ วอชิงตัน เกษียณตนจากการเมืองและการทหาร กลับไปทำไร่และอุตสาหกรรมที่บ้านไร่ของตนบนยอดเขาเวอร์นอน เวอร์จิเนีย อย่างสงบและมีประสิทธิภาพ ท่าเรือประมงของวอชิงตันจับปลาได้มากที่สุดในหมู่เกษตรกรและชาวประมง โรงกลั่นเหล้าของวอชิงตันใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และเป็นโรงกลั่นเหล้าที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาในยุคนั้น
สี่ปีถัดมา เหล่านักคิดนักปรัชญาบิดาผู้ก่อตั้งชาติในคองเกรสเริ่มไม่ลงรอยกัน ฝ่ายหนึ่งอยากให้แต่ละรัฐกลับไปมีอิสระปกครองตัวเอง อีกฝ่ายอยากให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งเพื่อดูแลและต่อสู้กับต่างชาติ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ว่าอนาคตของอเมริกาจะไปทางไหน และใครจะเป็นคนนำทางไป
มีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่ทุกฝ่ายเคารพ เชื่อมั่น และรับฟังว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อชาติอเมริกาและประชาชนทุกคน ผู้ที่มีอำนาจและยอมสละอำนาจด้วยสมัครใจ
คณะผู้เลือกประธานาธิบดี อิเล็กทอรัล คอลเลจ ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาปี 1789 ลงมติเลือกจอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของชาติเกิดใหม่อย่างเอกฉันท์ และเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์จากตัวแทนทุกมลรัฐ
ในวาระการดำรงตำแหน่งสองวาระของวอชิงตัน เขาสมานฉันท์กับทุกฝ่ายด้วยความทุ่มเท แม้กับศัตรูเก่าอย่างอังกฤษ ก็ใช้การทูตเพื่อเจรจาสันติภาพและต่อรองให้อเมริกามีเกียรติศักดิ์ศรีบนการเมืองโลก ด้วยความน่าเกรงขามของแม่ทัพผู้เอาชนะทัพหลวงอังกฤษ และการไม่ยึดติดกับตำแหน่งผลประโยชน์
วอชิงตันยังนำเอาคู่แค้นคนละขั้วการเมือง อย่างโทมัส เจฟเฟอร์สัน จอห์น อดัมส์ และอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน มาร่วมประสานประโยชน์ในรัฐบาลเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง ฝ่ายหนุนรัฐบาลกลางเข้มแข็งก่อตัวเป็นพรรคเฟเดอรัลลิสต์ ส่วนฝ่ายหนุนสิทธิมลรัฐรวมกันเป็นพรรคเดโมแครตรีพับลิกัน แต่ด้วยการนำของวอชิงตัน ทั้งสองพรรคต่อรองกับเพื่อประโยชน์แห่งการก่อตั้งชาติอเมริการ่วมในรัฐบาล
เมื่อสองสมัย แปดปีผ่านไป จอร์จ วอชิงตัน ในวัย 65 ปี กล่าวคำอำลาต่อรัฐสภา และออกจากการเป็นประธานาธิบดีตามวาระ แม้ว่าคองเกรสจะอยากให้เขาลงสมัครเป็นประธานาธิบดีต่อสมัยที่สาม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามสงครามยุโรปที่ใกล้เข้ามา
คำเตือนของวอชิงตันในวาระอำลาตำแหน่ง คือ “พึงระวังอิทธิพลต่างชาติในการเมืองระหว่างประเทศ และพึงระวังการแบ่งขั้วที่ขมขื่นในการเมืองภายในประเทศ จงทิ้งความเป็นพรรคพวกไปเพื่อตอบสนองคุณความดีที่มีร่วมกัน”
สองปีหลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน สิ้นลมอย่างสงบหลังจากการป่วยด้วยโรคไข้หวัด ที่บ้านไร่เมาท์เวอร์นอน ทิ้งไว้เพียงพินัยกรรมให้ปลดปล่อยทาสทั้งหมดที่เคยมีอยู่ในบ้าน และวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของนักปฏิวัติของชาติมหาอำนาจเพียงผู้เดียวในโลกที่ไม่เคยยึดคิดหลงในลาภยศตำแหน่งอำนาจและมีจุดจบแห่งชีวิตที่สงบงดงาม
บ้านไร่ของจอร์จ วอชิงตัน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมาท์เวอร์นอน ริมแม่น้ำโปโตแมค สมาคมสตรีแห่งเมาท์เวอร์นอนได้ซื้อและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติของอเมริกา
การเดินทางจากกรุงวอชิงตันดีซี มาตามทางหลวงหมายเลข 1 ก่อนตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 235 เมาท์เวอร์นอนไฮเวย์ หรือเลียบลำน้ำโปโตแมคมาทางจอร์จวอชิงตันพาร์คเวย์ รถโดยสารสาธารณะไปยากมาก ถ้าไม่มีรถขับ แนะนำให้เรียกอูเบอร์
ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 20$ สามารถซื้อล่วงหน้าผ่านอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์ www.mountvernon.org ได้ลดราคาเหลือ 17$ ภายในมีไกด์บริการทั้งแบบรอบเวลาและออดิโอไกด์ มีโรงหนังให้ชมสารคดี
ของที่ระลึกที่ไม่ควรพลาด “ไม้เชอร์รี่ของจอร์จ วอชิงตัน” ตามนิทานเรื่องจอร์จน้อยตัดต้นเชอร์รี่ของพ่อ
และไปทดลองสาบานตนเป็นประธานาธิบดีอเมริกาต่อหน้าจอร์จ วอชิงตันได้ในพิพิธภัณฑ์
อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมาท์เวอร์นอน เปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด เวลา 8:00-17:00 น.
3200 Mount Vernon Hwy, Mt Vernon, VA 22121
โทรสอบถาม +1-(703)-780-2000