คิดว่าหลายๆ คน คงเคยได้ยินชื่อ Rose Garden หรือ สวนสามพราน ริเวอร์ไซด์ กันมาบ้าง… เราก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ไม่เคยไปเที่ยวเลยสักที ไหนๆ หยุดยาวทั้งที จึงหาโอกาสไปเที่ยวสีเขียวแห่งใหม่ที่ สวนออร์แกนิก หรือ สวนเกษตรอินทรีย์ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของสวนสามพรานกันดูค่ะ
คำเตือน : บทความนี้ไม่เน้นที่เที่ยวสวยๆ แต่เน้นความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มากกว่า ถ้าสนใจลองอ่านกันดูค่ะ ได้เปิดโลกอีกมุมที่คนทำงานออฟฟิศอาจไม่ค่อยได้เห็นกัน
คิดว่าสวนสามพรานมีแต่โชว์ช้าง มีสวนออร์แกนิกด้วยหรือ?
สวนสามพรานเปิดมา 50 กว่าปีแล้ว แต่เพิ่งจะมีสวนออร์แกนิกเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ถือเป็นการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) อย่างต่อเนื่องสำหรับแขกของโรงแรม พนักงาน และชาวบ้านในละแวกนั้น
แนวคิดนี้มาจากทายาทรุ่นที่ 3 ของสวนสามพราน ที่พนักงานทุกคนเรียกอย่างเป็นกันเองว่า “คุณโอ” (อรุษ นวราช) เรียนจบวิศวกรเคมีจบจากอังกฤษ เมื่อจบแล้วก็ทำงานในบริษัทข้ามชาติก่อน ขณะนั้นได้พบกับ Harald Link มหาเศรษฐีชาวเยอรมัน ที่จุดประกายความคิดด้านออร์แกนิก ประกอบกับกิจการที่บ้านรายได้ลดลง คุณโอจึงกลับมาช่วยบริหาร โดยนำเสนอจุดขายใหม่เรื่อง “อาหารจากเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ” ไม่ใช่แค่ให้แขกของโรงแรมทานเท่านั้น ยังขยายผลไปถึงพนักงานทั้งหมดของโรงแรมราว 400 กว่าคนอีกด้วย
ทว่าจำนวนแขกและพนักงานโรงแรมไม่ใช่น้อยๆ เลย แถมงานเกษตรก็ไม่ใช่งานถนัดของโรงแรมที่จะต้องมาปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เองทั้งหมด เมื่อ 5 ปีก่อน คุณโอจึงริเริ่มโครงการสามพรานโมเดล เป็นการร่วมมือโดยตรงระหว่างเกษตรกร และ โรงแรม ซื้อ-ขายสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบรับประกันราคาขั้นต่ำโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
โครงการสามพรานโมเดลนี้ยังส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกร โดยนำเอาที่ดินฝั่งตรงข้ามกับโรงแรมสวนสามพราน 30 ไร่ มาเป็นแปลงสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรใน อ.สามพราน และพื้นที่ใกล้เคียงได้เห็นเป็นตัวอย่าง รวมทั้งยังเปิดให้บุคคลภายนอกอย่างเราๆ เข้าชมได้ด้วย ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า “ล่องน้ำลุยสวน” จึงเป็นที่มาของบทความนี้
เริ่มจาก “ล่องน้ำ” ไปยังสวนเกษตรอินทรีย์
คุณหน่อย – เจ้าหน้าที่ด้านเกษตรของสวนสามพราน พาเราเดินจากล็อบบี้ไปยังท่าเรือของโรงแรม ให้ใส่เสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัย (วันไหนพื้นแฉะ ก็ใส่รองเท้าบูตที่เตรียมเอาไว้ให้) จากนั้นก็แค่พายเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนไปยังท่าน้ำของสวนฝั่งตรงข้ามโรงแรม
ที่จริงวันไหนแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณเยอะหน่อย เค้าจะพาล่องคูน้ำลัดเลาะเข้าไปถึงข้างในสวน เผอิญเรามาในช่วงฝนแล้งไปหลายวัน จึงได้ “ลุยสวน” กันเยอะหน่อยค่ะ (ใครกลัวร้อนก็ไม่ต้องห่วง ทางโรงแรมมีร่มเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ มีน้ำเย็นให้ทานระหว่างทางด้วย)
“ลุยสวนลุงเขียด” กับความรู้เกษตรอินทรีย์แบบแน่นๆ
หลังจากขึ้นมายังสวนออร์แกนิก คุณหน่อย ก็พาเรามารู้จักกับ “ลุงเขียด” ผู้ดูแลสวนออร์แกนิก ที่จะเป็นครูคอยพาชมสวนและสอนการทำเกษตรอินทรีย์กันแบบไม่หวงวิชา 1 ชั่วโมงเต็มรอบๆ พื้นที่
ลุงเขียดเป็นคน จ.เพชรบุรี ย้ายมาที่สามพรานได้ 3 ปีแล้ว เพราะว่าที่โน่นไม่มีตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์รองรับ คุณโอจึงชวนมาช่วยงาน โดยให้สิทธิลุงเขียดลงมือบริหารสวนอย่างเต็มที่
ก่อนจะพาไปทัวร์สวน เราขอสรุปสั้นๆ เล็กน้อยว่านิยามของ เกษตรอินทรีย์ คือ ทุกวงจรการผลิตสินค้าการเกษตรจะต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อนใดๆ ตั้งแต่ ดิน แหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ หรือแม้กระทั่งปุ๋ยอินทรีย์ ก็ต้องมาจากฟาร์มอินทรีย์ด้วย แต่เพื่อความมั่นใจ เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกันเอง มักจะแลกเปลี่ยนผลิตผลกันเองมากกว่า อย่างเช่น แลกพันธุ์ไม้กัน แบ่งวัตถุดิบการเกษตรให้กัน (แค่ฟังก็อิ่มใจในวิถีชาวบ้านกันแล้ว)
สร้างแหล่งน้ำ-แนวกันลม เสมือนรั้วธรรมชาติที่กันสารเคมีออกจากสวน
แหล่งน้ำของสวนเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีที่พักน้ำก่อนเพื่อกรองสารเคมีออกไปชั้นนึง และยังใส่ผักตบชวา จอก แหน ซึ่งเป็นพืชที่ช่วยดูดสารเคมีออกไปจากแหล่งน้ำด้วย
ส่วนแนวกันลมเป็นคันดินปลูกต้นไม้ใหญ่ที่เน้นใบกระจาย เอาไว้บังละอองสารเคมีจากสวนข้างเคียง
ดินดี ปุ๋ยดี เกษตรกรทำเองได้ ขอให้รู้ศาสตร์แห่งอินทรีย์
ก่อนปลูกเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีการพักหน้าดินไว้ 1 ปี หรือ แม้แต่สวนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องเตรียมแหล่งปุ๋ยจากหลายทาง อาทิเช่น
- ธาตุไนโตรเจน (N) สำหรับปลูกข้าว – หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ สวนลุงเขียดก็จะปลูกต้น “ปอเทือง” แล้วไถกลบ เพื่อเสริมธาตุไนโตรเจนลงไปในดินตรงๆ จากนั้นเติมน้ำลงในนาให้เน่าอีกสักหน่อย หรือเรียกว่ากรรมวิธีการหมักดิน การทำนาแบบนี้จะทำให้ไม่มีต้นหญ้าแทรกตัวมาแย่งอาหารจากข้าวที่ปลูกในรอบถัดไป ผลผลิตก็จะเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
- ปุ๋ยอินทรีย์จากขี้ไส้เดือน – ไส้เดือนอัฟริกันตัวยาวๆ ที่ลุงเขียดช้อนขึ้นมานี้ ตัวนึงราคา 5 บาท เริ่มแรกซื้อมาแค่ 25 ตัว รอให้มันฟักไข่แต่ละครั้งก็เป็นพันฟอง พอเริ่มเยอะก็แจกจ่ายชาวบ้านด้วยกันเอง
- ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยชั้นดีของไร่ทุเรียน – ในขี้วัวจะมีเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะช่วยควบคุมโรครากเน่าของต้นทุเรียนได้ และที่สำคัญ วัวที่ผลิตปุ๋ยนั้น ต้องมาจากฟาร์มออร์แกนิก ไม่มีสารเร่งแดง หรือแม้แต่การใช้โซดาไฟเพื่อล้างคอกสัตว์
กำจัดแมลง ด้วยวงจรธรรมชาติ
นอกจากการเตรียมปุ๋ย เตรียมดินแล้ว ลุงเขียดยังสอนเรื่อง ตัวห้ำตัวเบียน จากห้องเรียนธรรมชาติจริงๆ ให้ฟัง
- ตัวห้ำ = ตัวห้ำหั่น คือการเอาสัตว์หรือแมลง ไป “กิน” ศัตรูพืช ตัวห้ำพระเอกของสวนลุงเขียดคือ “กบ” ลุงบอกว่าเลี้ยงไว้ปีก่อนหลายสิบตัว รวมๆ กัน 80 กก. แล้วก็เอามาปล่อยตามธรรมชาติ เวลากลางคืนก็ขยันหากินแมลงในสวน พาร้องระงมเลยหล่ะ
- ตัวเบียน = ตัวเบียดเบียน เป็นการเอาแมลง ไป “เบียดเบียน” อย่างเช่น ตัวแตนที่ดูดน้ำเลี้ยงของเพลี้ย ทำให้มันขยายพันธุ์ได้ช้าลง หรือ ค่อยๆ ทะยอยกันตาย
คุณหน่อยยังเสริมอีกด้วยว่า บางครั้งก็ทำน้ำยาอินทรีย์จากพริกกระเทียมตำมาผสมกับน้ำ ใช้สำหรับฉีดแมลงกันด้วยอ่ะ ภูมิปัญญาชาวบ้านแบบนี้ ตอนเย็นเตรียมทำผัดพริกแกงต่อได้เลย 😀
แต่อย่างไรก็ตามเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องยังมีสัตว์และแมลงหลงเหลืออยู่บ้าง แค่จำนวนน้อยลง ถ้าไม่มีเลยถือว่ามีสารเคมีปนเปื้อน ที่สังเกตง่ายๆ อย่างเช่น ยังมีหนอนตามต้นไม้ ต้นพืชอยู่บ้าง ส่วนแหล่งน้ำที่ดีๆ จะมี “ไข่ผำ” อยู่เต็มไปหมด (ภาษาอีสาน ที่แปลว่า สาหร่ายน้ำจืด)
เกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นที่เมล็ดพันธุ์อินทรีย์
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ เมล็ดพืชที่ตัดต่อพันธุกรรมมาแล้ว เค้าก็ไม่นับว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นการทำเกษตรอินทรีย์ให้ครบวงจร ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลผลิตที่สมบูรณ์ในรอบก่อนๆ มาเพาะปลูกกันในรอบถัดไป หรือ บางครั้งก็แบ่งจากสวนของเราไปแลกกับอีกสวนหนึ่ง
อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้… คิดเหมือนกันมั้ยคะว่าการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เกษตรกรช่างเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้า และเป็นสังคมที่ต่างพึ่งพากันและกันเป็นอย่างดี
วงจรชีวิตสัตว์อินทรีย์ ก็เหมือนพืชอินทรีย์
สวนของลุงเขียด ไม่ได้มีแต่พืชผักผลไม้ ยังเลี้ยงเป็ด ไก่ และหมูแบบอินทรีย์อีกด้วย เรียกว่าทำกันแบบครบวงจรจริงๆ
- เป็ดไก่ กินรำข้าวจากโรงสีออร์แกนิกของโรงแรมเอง
- หมู เลี้ยงด้วยผักตบออร์แกนิกที่ปลูกเอง ผสมรำข้าว และข้าวอีกนิดหน่อย นอนบนฟูกแกลบหนาๆ นุ่มๆ อย่างมีความสุข
เกษตรอินทรีย์ ต้องจดบันทึกยิ่งกว่าทำ ISO เพราะคือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
หลายๆ คนที่เคยอยู่บริษัทที่ต้องทำมาตรฐานพวก ISO น่าจะคุ้นเคยกับการทำเอกสาร หรือ กระบวนการให้สามารถติดตามได้ทุกขั้นตอนการทำงาน (traceable) การทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังก็เหมือนกัน เกษตรกรทุกสวนจะมีการจดบันทึกทุกขั้นตอน อาทิ วันไหนเพาะปลูกอะไร วันไหนส่งสินค้าอะไรบ้าง
สาเหตุที่ต้องทำกันอย่างละเอียดอย่างนั้น เพราะเกษตรอินทรีย์ทำยากกว่าเกษตรเคมี ดังนั้นหากมีใครก็ตามในกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเองที่ “ลักไก่” เพียงแค่เอาสินค้าเกษตรเคมีไปผสม นั่นคือการทำลายความเชื่อมั่นของทั้งระบบ รวมไปถึงผู้บริโภคด้วยค่ะ
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สวนที่ลุงเขียดบริหารนี้ ผ่านมา 3 ปี ได้ใบรับรองการทำเกษตรอินทรีย์มาตั้ง 3 ใบแน่ะ แต่ลุงเขียดบอกว่า ใบรับรองก็เหมือนยันต์กันผีเท่านั้น จริงๆ แล้วอยู่ที่ “ใจ” เราเองต่างหาก
ชิมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์สดใหม่ ที่สวนลุงเขียด
จะทัวร์เอาแต่ความรู้อย่างเดียวคงไม่ใช่ที่นี่ ลุงเขียดยังนำผลงานสดๆ จากสวนมาให้แขกชิมกัน ส่วนใหญ่เน้นผลไม้เป็นหลักค่ะ
- มะพร้าวอ่อน เนื้อมะพร้าวมันอ่อนจริงๆ ส่วนน้ำมะพร้าวก็ไม่หวานมาก แต่ก็ไม่เปรี้ยว ทานแล้วสดชื่นจริงๆ นะ
- กล้วยหอม แม้จะลูกเล็กหน่อย ผิวไม่สวยแบบที่เราเห็นๆ กันตามร้านสะดวกซื้อ แต่เนื้อกล้วยมันฉ่ำน้ำมากกว่ากล้วยหอมทั่วไป กลิ่นหอมนวลๆ ไม่หอมจนฉุน
- ฝรั่งขี้นก หรือ ฝรั่งไส้แดง ตัวนี้เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างฝรั่งกิมจู และ ฝรั่งขี้นกดั้งเดิม ลูกใหญ่ขึ้น ลุงเขียดบอกว่าชาวต่างชาติชอบนะ เพราะสีสวย รสชาติดี เราลองทานก็รู้สึกว่าเนื้อเค้าแน่นแบบฝรั่งขี้นก แต่ก็มีความฉ่ำแบบฝรั่งกิมจูปนมาด้วย
- ชาสมุนไพร สำหรับชาที่เอามาให้ลอง มีชาดอกอัญชัญ ชาดอกบัว และชาตะไคร้ เป็นชากลิ่นอ่อนๆ ใน 3 อย่างนี้ เราชอบชาดอกบัวมากที่สุด กลิ่นเค้าเป็นเอกลักษณ์ดีค่ะ
ส่งท้ายด้วยภาพบรรยากาศในสวนลุงเขียดค่ะ
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากไปเที่ยวสวนลุงเขียด สามารถจองกับสวนสามพราน ริเวอร์ไซด์โดยตรง ตามรายละเอียดด้านล่าง
- ค่าใช้จ่าย : ผู้ใหญ่ 400 บาท, เด็ก 300 บาท
- รอบเข้าชม : วันเสาร์ 10.00, 16.00 น. และวันอาทิตย์ 10.00 น. ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง (อาจแจ้งยกเลิก หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย)
- เบอร์โทรศัพท์ : 034-322-588 (ควรจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน)
- แผนที่สวนสามพราน ริเวอร์ไซด์ จาก Google Maps :
สำหรับใครที่มีเวลาน้อยหน่อย ยังมีตลาดนัดสินค้าการเกษตรอินทรีย์ ชื่อ ตลาดสุขใจ ที่เกษตรกรในโครงการสามพรานโมเดลมาตั้งแผงขายในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้านหน้าสวนสามพราน ซึ่งจะมารีวิวในคราวต่อไปค่ะ