รีวิวอาหารสิงคโปร์ ห้องอาหาร Element โรงแรม Amara Bangkok

คำชี้แจง รีวิวนี้ได้รับการสนับสนุนอาหารจากทางโรงแรม Amara Bangkok ซึ่งได้เชิญทีมงานของ 2baht.com ไปทดลองชิมอาหารสิงคโปร์ โดยให้อิสระกับการรีวิวอย่างเต็มที่ ขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ

“อาหาร” กับความผูกพันในฐานะส่วนหนึ่งของ “ชาติ” ผ่านกรอบการแสดงตัวตนที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” นั้น เป็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป และนำมาสู่ความคิดที่ว่าด้วยเรื่องของ “อาหารประจำชาติ” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนและภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมที่สามารถนำเข้าและส่งออกได้

เมื่อพิจารณาจากกรอบนี้ ประเทศเกิดใหม่อย่าง “สิงคโปร์” จึงอาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่ามีอาหารประจำชาติด้วยหรือไม่ นั่นก็เพราะสิงคโปร์เป็นรัฐชาติใหม่มาได้ไม่นาน (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) แต่สิงคโปร์เองก็มีอาหารประจำชาติอยู่หลายเมนู และอันที่จริงแล้วก็ถือว่าค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากอาหารชาติทั่วไป เนื่องจากมีการผสานทั้งอาหารพื้นถิ่นแบบมาเลย์เข้ากับอาหารจีน โดยเฉพาะจีนไหหนาน ทำให้มีลักษณะเฉพาะตัวสูง รสจัดจ้านแบบท้องถิ่น แต่มีความกลมกลืนแบบอาหารจีนไม่ใช่น้อย

วันนี้ทาง 2baht.com จึงขอพาท่านผู้อ่านพบกับอาหารสิงคโปร์ ที่ห้องอาหาร Element โรงแรม Amara Bangkok ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่ใจกลางกรุงเทพย่านสุรวงศ์ โดยชูจุดเด่นเรื่องของอาหารสิงคโปร์เป็นหลักครับ

แนะนำห้องอาหาร Element

ห้องอาหาร Element เป็นห้องอาหารหลักของโรงแรม Amara Bangkok ที่เป็นโรงแรมในเครือ Amara Hotels and Resorts ของสิงคโปร์ (ปัจจุบันมี 3 แห่ง โดยมีที่สิงคโปร์ 2 แห่ง และกรุงเทพ 1 แห่ง) ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน (B1) ของโรงแรม

หากจะเดินทางมาโรงแรม เส้นทางที่ใกล้ที่สุดคือนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีช่องนนทรี แล้วเดินไปฝั่งถนนสุรวงศ์ก็จะเจอ แต่ถ้าหากใครอยากเดินไกลหน่อย (เพื่อสุขภาพ) สามารถเดินได้จากย่านสีลมหรือย่านใกล้เคียงกันได้ไม่ยากนัก ตัวโรงแรมตั้งอยู่ตรงแยกถนนสุรวงศ์-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ครับ (ภาพแผนที่ด้านล่าง)

image003

เนื่องจากไม่ได้มีโอกาสเก็บภาพบรรยากาศของห้องอาหารมา เลยขออนุญาตบรรยายแทนนะครับ โดยรวมแล้วการตกแต่งนั้นไม่ต่างจากโรงแรมทั่วไป คือเน้นการตกแต่งแบบทันสมัยทั่วไป และมีครัวเปิดตามสมัยนิยมของโรงแรมในปัจจุบัน ทำให้ได้เห็นการทำอาหารในหลายส่วนครับ ที่นั่งเมื่อเทียบกับขนาดของโรงแรมแล้ว อาจจะถือว่าไม่มาก ส่วนเรื่องของแสงนั้นแม้จะเป็นชั้นใต้ดิน แต่ก็ออกแบบให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้บ้าง ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ

20150708_153637

รีวิวอาหารสิงคโปร์

มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของรีวิวนี้ ซึ่งก็คืออาหารสิงคโปร์ โดยถือเป็นอาหารชูโรงของห้องอาหารนี้ และได้เชฟใหญ่ของโรงแรมที่เป็นชาวสิงคโปร์ มาควบคุมดูแลการทำอาหารในทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงสูตรอาหารด้วย โดยเวลามาทานจริง จะได้เป็นชุดใหญ่ (ในภาพจะมีทั้งที่โรงแรมจัดมาให้เป็นขนาดชิม และจำหน่ายจริง) และ โดยทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะมีโปรโมชั่นชุดอาหารเที่ยงออกมา (รวมน้ำดื่มแล้ว) ในเร็วๆ นี้

เริ่มต้นที่ Kueh Pie Tee จานนี้ทางโรงแรมระบุว่าจะเป็นจานสมนาคุณ (complimentary) ให้กับลูกค้า ซึ่งถ้ากล่าวให้ง่ายที่สุดสำหรับคนไทยคือ กระทงทองกุ้ง ซึ่งทำมาจากกระทงที่ทำมาจากแป้ง (แบบเดียวกับปอเปี๊ยะ) ทอดเพื่อให้ความกรอบ แล้วใส่ไส้เข้าไป ไส้นอกจากกุ้งและซอสพริกแล้ว ยังมีถั่วงอกและหัวไช้โป้วด้วย ซึ่งถ้าหากต้องการความหวานเพิ่ม สามารถใส่ซอสบ๊วยเพิ่มเติมได้

20150708_163806

จานนี้ถือว่ารสชาติทำออกมาได้ดี กระทงทองกรอบแต่ไม่อมน้ำมัน แต่หนักไปทางติดหวานและไม่เผ็ดอย่างที่คาดครับ

20150708_150406

จานต่อไปเป็น Popiah หรือ ปอเปี๊ยะแบบสิงคโปร์ ซึ่งจุดต่างจากปอเปี๊ยะแบบที่เราคุ้นเคยคือตัวแป้งที่จะยืนระหว่างแป้งปอเปี๊ยะสดกับแป้ง Tortilla ของเม็กซิกัน หรือกล่าวอีกแบบคือมีความหนืดมากกว่านั่นเอง

20150708_163756

ตัวไส้แทบไม่ต่างจาก Kueh Pie Tee ดังนั้นรสที่ออกมาจึงค่อนข้างติดหวาน แต่คราวนี้ใส่ผักมาให้ในไส้ด้วย ทำให้ได้ความสดชื่นกลับมา (ซึ่งจานแรกขาดหายไป) ครับ

20150708_151221

มาถึงจานที่สาม คือ Hainanese Chicken Rice หรือ ข้าวมันไก่ไหหนาน  (270++ บาท) ที่ใช้ไก่มาต้มเพื่อทำน้ำซุป แล้วทำการแช่ในน้ำเย็นทันทีหลังต้ม (เพื่อให้หยุดความร้อนตกค้าง ไม่เช่นนั้นไก่จะสุกจนเกินไปและขาดความสด) ส่วนข้าวก็หุงด้วยเครื่องเทศต่างๆ และใบเตย และใส่มันไก่ลงไปนิดหน่อยในตอนท้ายครับ

ความแตกต่างระหว่างข้าวมันไก่แบบไทยที่เราคุ้นลิ้นกันดี คือการไม่นำน้ำซุปที่ได้จากการต้มไก่ในตอนแรกเป็นน้ำสำหรับหุงข้าว แต่ใส่ไปทีหลัง ทำให้ข้าวออกมาไม่มันเท่า และการไม่แช่เย็นไก่ของข้าวมันไก่ไทย ทำให้ไก่ในข้าวมันไก่แบบไทยเนื้อแน่นกว่า (แต่แลกมาด้วยความเหนียวแทน)

20150708_163624

จานนี้รสชาติโดยภาพรวมถือว่าอร่อยครับ แต่ข้าวออกจะขาดตัวเด่นชูโรง เมื่อเทียบกับไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ที่ใส่น้ำมันงา ทำให้หอมและแตกต่างไปจากข้าวมันไก่โดยทั่วไปครับ

20150708_152532

น้ำจิ้มที่ทานคู่มีสามประเภท แบบแรกคือซีอิ้วดำ ซึ่งจะไม่ใช่ซีอิ้วหวานแบบบ้านเรา (บางที่ซีอิ้วหวานจะขึ้นจากน้ำตาลทรายแดงที่เป็นคาราเมล ก่อนใส่น้ำและเครื่องปรุงอื่นๆ เข้าไป) แบบที่สองคือขิงซอย ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวซ่อนอยู่ และสุดท้ายคือซอสพริก ที่จะมีรสหวานซ่อนอยู่ ซึ่งก็พบว่าซอสพริกดีที่สุดครับ และความเผ็ดจะไม่เกิดที่ลิ้น แต่จะเกิดขึ้นที่ช่วงหลังลิ้นไปจนถึงต้นคอครับ

20150708_151921

เข้าจานที่สี่คือ Prawn Mee Soup หรือ ก๋วยเตี๋ยวฮกเกี้ยนกุ้งในน้ำซุป (330++ บาท) ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวกุ้งแบบสไตล์สิงคโปร์ครับ จุดเด่นของจานนี้อยู่ที่น้ำซุปที่มีลักษณะการปรุงแบบน้ำซุปของอาหารตะวันตก กล่าวคือ หากผู้อ่านเคยทานซุปเช่น ซุปหัวกุ้งมังกร (Lobster Bisque) ซุปของก๋วยเตี๋ยวนี้ก็จะเป็นลักษณะเช่นนั้น กล่าวคือ ในตอนแรกใช้วิธีการผัด เพื่อทำให้ตัวหัวกุ้งและส่วนผสมมีกลิ่นไหม้นิดๆ (เป็นลักษณะปกติ) รวมถึงดึงรสชาติออกมาให้ชัดเจน จากนั้นจึงใส่น้ำซุปเข้าไป แล้วสร้างออกมาเป็นน้ำซุปสำหรับก๋วยเตี๋ยวจานนี้

20150708_163722

รสชาติของน้ำซุปถือว่าโดดเด่น เพราะมีทั้งความเผ็ด กลิ่นไหม้นิดๆ และความจัดจ้านรสชาติของเปลือกกุ้งอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีความสมดุลในแง่ของรสชาติอย่างดีด้วย (แน่นอนว่าคนที่ไม่ชอบกุ้งหรือแพ้กุ้ง จานนี้เป็นของต้องห้าม) ส่วนตัวเส้นจะเป็นบะหมี่เส้นกลม (ปกติในท้องตลาดบ้านเรา มักจะเป็นเส้นแบบแบน) ถือว่าจานนี้น่าจะเด็ดขาดที่สุดในบรรดาทั้งหมดเท่าที่ชิมมาครับ

20150708_154700

จานถัดไปคือ Laksa หรือ ลักซา (380++ บาท) อาหารที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยที่สุดแล้วเวลากล่าวถึงอาหารสิงคโปร์ กล่าวภาพให้ใกล้เคียงที่สุดสำหรับจานนี้คือก๋วยเตี๋ยวแกงบ้านเรา แต่เปลี่ยนเส้นจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นเส้นขนมจีนแทนครับ

20150708_163916

รสชาติถือว่ายังไม่ค่อยเข้าที่เท่าใดนัก กล่าวคือ ทั้งตัวเส้น กุ้ง ไก่ ไข่ เต้าหู้ ลูกชิ้นปลา และอื่นๆ ที่มาเป็นองค์ประกอบในจานทั้งหมดเอื้อให้น้ำซุปออกมาโดดเด่นมาก แต่ปัญหาของจานนี้คือรสชาติของกะทิในน้ำซุปชัดเจนมาก แต่ขาดรสชาติอย่างอื่นมารองรับ ซึ่งเมื่อใส่น้ำพริกผัดของสิงคโปร์ที่เรียกว่า “sambal” แล้ว กลับมีรสชาติที่ดีขึ้นและได้สมดุลที่ดีขึ้นกลับมาครับ ดังนั้นถ้าใครจะมาทานจานนี้ แนะนำว่าให้ใส่ซอสพริกด้วย

20150708_160033

จานรองสุดท้ายคือ Nasi Lemak หรือ นาซิ เลอมะก์ (270++ บาท) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของแถบมาเลย์ (มีทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบนี้บางประเทศด้วย) ความหมายของชื่อคือ ข้าวที่หุงในครีม และในที่นี้ก็จะเป็นครีมอื่นไม่ได้นอกจากหัวกะทิ (Coconut cream) นั่นเอง

20150708_163835

จานนี้จะให้ดีควรจะต้องกินแบบรวมกันทุกองค์ประกอบ เพราะแต่ละส่วนจะมีข้อเด่นไปกันคนละทาง ตัวอย่างเช่น น้ำพริกที่เผ็ด ผักที่ให้ความสดชื่น ไข่ที่ให้สัมผัส รวมไปถึงปลาและไก่ที่เสิร์ฟมา หากมาทานรวมกันได้ โดยเฉพาะภายในคำเดียว (ถ้าสามารถพอ) ก็จะได้รสชาติที่ลงตัวครับ อย่างไรก็ตาม ข้าวกลับไม่หอมอย่างที่คาด (หอมแบบแฝงๆ ต้องเคี้ยวข้าวเปล่าๆ จึงจะได้กลิ่น) และไม่มันอย่างที่ควรจะเป็นครับ

20150708_161252

ส่วนจานสุดท้ายคือ Bak Kut Teh หรือ บักกุ๊ดเต๋ (230++ บาท) ซึ่งเป็นซุปและอาหารท้องถิ่นของประเทศแถบนี้ (ทางใต้ของเราก็ได้รับอิทธิพลมาด้วย) ในกรณีของอาหารที่ชิมในครั้งนี้ บักกุ๊ดเต๋มาในรูปแบบของซุปซี่โครงหมูใสๆ ซึ่งมีรสชาติกลมกล่อม แต่จานนี้จะเด่นชัดเรื่องของพริกไทเป็นพิเศษ อาจจะเรียกว่าเข้มข้นก็ได้ ซึ่งในชุดจริงจะเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยและเครื่องเคียงอื่นๆ ด้วยครับ

20150708_163821

20150708_162814

บทสรุป

ในเชิงของราคาอาหารทั้งหมดแล้ว ต้องถือว่าราคาค่อนข้างสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ตัวอาหารของสิงคโปร์ก็สามารถสร้างจุดเด่นที่ต่างไปจากคู่แข่งเมื่อเทียบกับโรงแรมในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องของรสชาติโดยภาพรวม ถือว่าทำได้ดี แต่ก็ยังมีบางจานที่ยังต้องปรับอยู่บ้าง แต่ถ้าถามว่าใกล้เคียงกับรสชาติแบบที่ทานไปจริงๆ ที่สิงคโปร์หรือไม่ คำตอบคือใกล้เคียงกันมาก และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลองไปทางอาหารสิงคโปร์ครับ

เมนูที่น่าสนใจที่สุดและแนะนำ เห็นจะเป็น Prawn Mee Soup  ซึ่งมีลูกเล่นที่ผสานเอาวิธีแบบตะวันตกเข้ากับอาหารแบบตะวันออกได้อย่างน่าสนใจ ส่วนถ้าใครอยากลองข้าวมันไก่ที่มีสไตล์ต่างจากไทย Hainanese Chicken Rice ก็เป็นอีกจานที่น่าลองครับ