ไม่กลัวธงแดง การบินไทย สอบผ่านมาตรฐานความปลอดภัยการบินยุโรป EASA

thai airways easa

ปีที่แล้วมีข่าวใหญ่ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในไทย นั่นก็คือการที่ กรมการบินพลเรือนไทย เจอปัญหา “ธงแดง” ของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO)

ความเสี่ยงจากมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนที่ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้สายการบินทุกรายจากไทยถูกเพ่งเล็งเรื่องความปลอดภัย เมื่อเปิดเส้นทางบินไปยังประเทศต่างๆ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเข้มงวด อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

การบินไทย (Thai Airways) เป็นหนึ่งในสายการบินที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงพยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำหลักความปลอดภัยของ องค์กรการบินของสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency – EASA) มาใช้ปฏิบัติแทนหลักการของกรมการบินพลเรือน

การบินไทย ยังพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ใช้จังหวะนี้ปรับปรุงเรื่อง Compliance (การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ หรือ มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบิน) ให้เหนือกว่าเดิมไปอีกขั้น ภายใต้ชื่อโครงการว่า Safety Beyond Compliance หรือ มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ 

มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
ปีระมิดความปลอดภัย ที่รากฐานสั่นคลอนเมื่อกรมการบินพลเรือนได้ธงแดงจาก ICAO

ทีมงาน 2Baht ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายเกี่ยวกับโครงการ Safety Beyond Compliance จากผู้บริหารของการบินไทย จึงนำข้อมูลของโครงการนี้มาเล่าต่อค่ะ

โครงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย Safety Beyond Compliance คือแนวคิดความปลอดภัยแบบบูรณาการ มีหลักการทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ มาตรฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จะต้องพัฒนาระดับของความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงลำพังได้

1. มาตรฐาน EASA ที่เข้มข้นกว่าเดิม

เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือนติดธงแดง การบินไทยจึงขยับไปใช้มาตรฐาน (compliance) ที่เข้มข้นกว่าเดิม คือ มาตรฐาน EASA ขององค์กรการบินของสหภาพยุโรป อันนี้เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลอยู่แล้ว สายการบินของยุโรปต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ EASA อย่างเคร่งครัด

เมื่อการบินไทยยึดมาตรฐานของ EASA เป็นที่ตั้ง ก็ต้องปรับองค์กรให้เข้าตามมาตรฐานของ EASA ด้วย ในแง่ของคู่มือและเอกสารต่างๆ ก็ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เดินตามมาตรฐานของ EASA นั่นเอง

EASA_Logo

2. บุคลากร หัวใจหลักของความปลอดภัย

การเปลี่ยนระดับของมาตรฐานที่องค์กรต้องปฏิบัติตาม ไปใช้มาตรฐานระดับนานาชาติที่เข้มงวดกว่า ย่อมมีรายละเอียดมาก เพราะการทำมาตรฐานไม่ใช่เป็นแค่การออกนโยบาย การออกแนวปฏิบัติมาตรฐาน SOP (Standard Operating Procedure) หรือ การทำเอกสารเท่านั้น แต่การบินไทยยังต้องอบรมพนักงานและผู้บริหารการบินไทยทุกท่านให้ “ตระหนัก” ในเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ซึมซับเข้าไปถึงจิตวิญญาณในการปฏิบัติงานจริงด้วย

สถิติจากอุตสาหกรรมการบินสากลในปี 2016 ระบุไว้ว่า 80% ของอุบัติเหตุมาจากความผิดพลาดของมนุษย์ สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของคน ที่ต้องดำเนินการตามมาตรฐาน รวมถึงเรื่องการฝึกนักบินให้มีความชำนาญเพื่อความปลอดภัยในระดับสูงสุดด้วย

มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย

นอกจากการอบรมแล้ว การตรวจสอบว่าบุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจระดับมาตรฐาน EASA จริงก็เป็นสิ่งสำคัญ ส่งผลให้การบินไทยยังต้องมีหน่วยงานที่คอยดูแลและกำกับด้าน Compliance อีก 3 หน่วย ได้แก่

  • หน่วยงานที่คอยอัพเดตมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินจาก Rule Maker หรือผู้ออกกฎต่างๆ อาทิ EASA, IATA และหากพบว่ากฎใดที่ยังไม่ได้ทำตาม ก็จะประสานงานไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นปรับปรุงมาตรฐานการทำงานให้เป็นไปตามกฎนั้นๆ
  • หน่วยงานที่ Monitor และ Audit ภายในว่าสิ่งที่ปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากลครบถ้วน
  • หน่วยงานที่ช่วยจัดทำเอกสาร หรือ Procedure การปฏิบัติงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
ตัวอย่าง Procedure เมื่อเกิดอากาศยานอุบัติเหตุ ณ ท่าอากาศยาน

ทั้งนี้หากพบว่ามีพนักงานท่านใดพลาดพลั้งในเรื่องที่ไม่เคยบรรจุไว้ใน Procedure ก็จะไม่มีการเอาผิดกับผู้ปฏิบัติงาน ถือเป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดเพื่อกลับมาแก้ไข/ปรับปรุงเอกสารและกระบวนการ อบรมบุคลากร เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก

3. นำเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการบริหารความปลอดภัยและลดความเสี่ยง

นอกจากการบินไทยจะขยับไปทำตัวมาตรฐาน EASA และพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจเรื่องมาตรฐาน EASA แล้ว ยังต้องนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้ระดับของความปลอดภัยดีขึ้นกว่าเดิมด้วย (ใช้คนอย่างเดียวไม่พอ)

เทคโนโลยีที่การบินไทยนำมาช่วยยกระดับความปลอดภัยของการบิน มีทั้งหมด 4 ระบบ ดังนี้

1) Safety Reporting & Information System เป็นระบบสำหรับบันทึกรายงานด้านความปลอดภัย ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิด อาทิ PC, Laptop, Tablet, Mobile สามารถทำงานแบบ Offline และส่งข้อมูลกลับมายังระบบกลางเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จากนั้นจะทำการประมวลผลแสดงค่าสถิติออกมาเป็น Dashboard

มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
ระบบบริหารความปลอดภัย (Safety Management System)
มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
Safety Information System ระบบวิเคราะห์และแสดงค่าสถิติเป็น Dashboard

2) Flight Data Monitoring & Animation Program โปรแกรมนี้คอย Monitoring และเก็บ log การขับเครื่องบินของนักบิน หากนักบินท่านใดต้องการหาข้อบกพร่องในการขับเครื่องบินของตัวเองก็สามารถขอรันโปรแกรม Flight Data Animation เพื่อ Replay ดูผลงานการขับเที่ยวบินก่อนๆ ย้อนหลังได้ด้วย

มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
Flight Data Animation Program สำหรับให้นักบิน Replay ดูการขับเครื่องบินของตนเอง เพื่อหาจุดที่บกพร่องและนำไปปรับปรุง

3) Flight Simulation System เครื่องบินจำลองเสมือนจริง ที่มีโปรแกรมเตรียมทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการบิน หรือ เหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงระหว่างฝึกซ้อมให้นักบินได้ลองทำการฝึกจนชำนาญ เช่น การลงจอดในสภาพทัศนวิสัยแย่ หมอกลงหนา หิมะตก การร่อนลงจอดในสนามบินต่างๆ ทั่วโลก หรือ แม้แต่การเกิดเพลิงไหม้ โดยจะมีครูฝึกคอยเตรียมโจทย์การฝึกหัดในแต่ละครั้ง อธิบายง่ายๆ ว่านักบินของการบินไทยจำเป็นต้องผ่านสถานการณ์จำลองเหล่านี้มาจนเชี่ยวชาญ ถ้าต้องเจอปัญหาเข้าจริงๆ ก็จะไม่ลนลานเพราะฝึกซ้อมมาหมดแล้ว

ตัวเครื่องจะมีขาทั้งหมด 6 ขาโดยใช้ระบบไฮโดรลิกหรือระบบไฟฟ้า เพื่อจำลองให้เหมือนการขับเครื่องบินจริงได้มากที่สุด – ทีมงาน 2baht ได้ลองเข้าไปทดลองใช้ก็พบว่าเหมือนนั่งอยู่บนเครื่องบินจริงมากๆ ทั้งการขึ้น การลงจอด หรือแม้แต่การเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศ

Flight Simulator A380 การบินไทย
เครื่องจำลองการขับเครื่องบิน Airbus A380

เครื่อง Flight Simulator แต่ละรุ่น ก็จะมีหน้าต่าง หน้าปัด ตัวบังคับเครื่องบินเหมือนกับเครื่องบินจริงทุกประการ

Flight Simulator A380 การบินไทย

4) Big Data ในยุคที่ข้อมูลเป็นสินทรัพย์อันมีค่ามหาศาล การบินไทยก็ได้ทำการเก็บ log ของแต่ละเที่ยวบิน เรียกว่า Story โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น Sabre (ข้อมูล route การบิน), Amadeus (ข้อมูลผู้โดยสาร), Airbus/Boeing (ข้อมูลระบบการทำงานของเครื่องบิน) รวมไปถึงข้อมูลสภาพอากาศจากเรดาห์ต่างๆ มาจัดเก็บเพื่อทำ Data Intelligence สำหรับดูข้อมูลย้อนหลัง เก็บค่าสถิติ เพื่อช่วยวิเคราะห์และการประเมินความเสี่ยง (Risk Analysis)

โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า Enplore โดยพัฒนาร่วมกันระหว่างการบินไทย กับสายการบิน Scandinavian Airlines (หรือที่รู้จักกันในชื่อ SAS) ร่วมกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ ทั้งผู้ผลิตเครื่องบิน และผู้ผลิตฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเริ่มนำมาใช้งานจริง เมื่อนั้น การบินไทยจะมีระบบบูรณาการข้อมูลทุกอย่างเพื่อใช้วิเคราะห์ด้านความปลอดภัยของการบินได้เลย

มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
Interface System สำหรับการทำ Big Data
มาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ การบินไทย
ตัวอย่างของการทำ Risk Analysis โดยมีระบบที่คอย Alert เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ควรเฝ้าระวัง (แถบสีเหลือง)

ความสำเร็จจากโครงการ Safety Beyond Compliance

หลังดำเนินการตามแผนยกระดับความปลอดภัย Safety Beyond Compliance อย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นมีดังนี้

การบินไทย ผ่านการรับรองจาก EASA แล้ว

สถานะตอนนี้คือ การบินไทยผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก EASA ตั้งแต่ปลายปี 2558 และได้รับใบอนุญาตแบบ Third-Country Operator หรือ TCO (สำหรับสายการบินที่อยู่นอกยุโรป) ให้สามารถบินไปยังประเทศในสหภาพยุโรปได้ตลอดไป

ใครที่เป็นกังวลว่าอุตสาหกรรมการบินไทยติดธงแดง อนาคตจะไม่สามารถบินไปยังทวีปยุโรปได้ ก็สบายใจได้เพราะการบินไทยผ่านการรับรองมาตรฐานจาก EASA ของยุโรปโดยตรงเรียบร้อยแล้ว

คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย เล่าว่า ระหว่างการ Audit ผู้แทน EASA ถามว่าความเสี่ยงสูงสุดด้านความปลอดภัยของการบินไทยคืออะไร? ซึ่งทีม Compliance ของการบินไทย สามารถตอบได้อย่างฉะฉานว่าความเสี่ยงที่พบคือปัญหา Flight Turbulence (เครื่องบินตกหลุมอากาศ) พร้อมกับเปิดสถิติจากโน้ตบุ๊กให้ดูทันที เรียกว่าเตรียมตัวมาดีเยี่ยม ตอบได้ละเอียดจน Auditor แทบจะไม่มีคำถามต่อ แสดงให้เห็นว่าบุคลากรของการบินไทยเตรียมตัวมาพร้อมมากสำหรับงานนี้

การบินไทย ได้ต่ออายุใบรับรองความปลอดภัยจาก IATA

นอกจากมาตรฐานความปลอดภัย EASA ของยุโรปแล้ว การบินไทยยังได้รับการต่ออายุใบรับรองความปลอดภัย IOSA จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) อีกหน่วยงานหนึ่งด้วย สมาคม IATA เป็นสมาคมฝั่งภาคเอกชนของสายการบินทั่วโลก ซึ่งการบินไทยได้ใบรับรองความปลอดภัย IOSA ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว การที่การบินไทยได้รับการต่ออายุใบรับรองนี้เป็นสายการบินแรกในไทย ก็ช่วยย้ำให้เห็นว่าการบินไทยมีระดับมาตรฐานความปลอดภัยอย่างสูงมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม โครงการ Safety Beyond Compliance ไม่ใช่แค่การ Audit ให้ผ่านมาตรฐาน EASA เพื่อให้การบินไทยสามารถบินไปสู่ประเทศสหภาพยุโรปได้เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับความปลอดภัยให้ยั่งยืน มั่นคง และมีอยู่ตลอดไป ในความเสี่ยงระดับต่ำที่สุดเท่าที่สามารถทำได้เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารทุกท่าน

จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ การบินไทย
จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย