การบินไทย แถลงผลประกอบการประจำปี 2558/2015 ตลอดทั้งปี ขาดทุนรวม 1.3 หมื่นล้านบาท ถือว่าขาดทุนลดน้อยลงจากปี 2557 ที่ขาดทุน 1.56 หมื่นล้านบาท
2Baht.com เคยเสนอเรื่องวิกฤตการบินไทยมาแล้วหลายครั้ง (ปัญหาสำคัญการบินไทย: การรุกเข้ามาของสายการบินจากตะวันออกกลาง และ เปิดผลประกอบการการบินไทย เพราะเหตุใดถึงขาดทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท) ในโอกาสที่การบินไทยแถลงผลประกอบการตลอดทั้งปี เราจึงมาเปิดงบของการบินไทยดูกันอีกครั้งหนึ่ง
ภาพรวมงบการบินไทย: ตัวธุรกิจขาดทุนไม่มาก
ถ้าลองดูตารางสรุปงบประมาณรวมของการบินไทยตลอดปี 2015 (2558) เทียบกับผลงานของปีก่อนหน้าคือ 2014 (2557) ในจุดที่ไฮไลท์เอาไว้ 4 จุด
1. รายได้
จะเห็นว่ารายได้ของการบินไทยลดลงเล็กน้อย (-1.2%) จากปี 2014 โดยรายได้จากค่าโดยสารลดลง -1.5%, รายได้จากการขนส่งสินค้าลดลง -21%, รายได้จากบริการส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้น
2. ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายของการบินไทยก็ลดลงจากปีก่อนถึง -11.2% เหตุผลสำคัญมาจากค่าน้ำมันที่ลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกถึง -20.2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินง่านอื่นๆ ก็ลดลงจากเดิม -6% (นั่นแปลว่าความพยายามในการลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยของการบินไทยก็เห็นผลบ้าง)
3. กำไร/ขาดทุนจากการดำเนินงาน
ถ้าคิดเฉพาะผลประกอบการจากการดำเนินงาน (operating profit/loss) หักรายได้กับต้นทุนแล้ว ปี 2015/2558 การบินไทยจะขาดทุนเพียง 1,304 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ปี 2014/2557 การบินไทยขาดทุนถึง 23,019 ล้านบาท ต่างกันเกือบ 20 เท่าเลยก็ว่าได้
เหตุผลที่การบินไทยขาดทุนน้อยลงมากก็ชัดเจนว่าเป็นเพราะ “ต้นทุนน้ำมันลดลง” ทำให้รายจ่ายลดลงมาก (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตาม รายจ่ายที่ลดลงก็ยังมากกว่ารายได้ ทำให้การบินไทยยังขาดทุนจากการประกอบธุรกิจอยู่
4. กำไร/ขาดทุนสุทธิ
แต่ในเชิงธุรกิจแล้ว ต้องคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากการดำเนินงานด้วย ในหมวดนี้จะเห็นว่าการบินไทยมีรายจ่ายก้อนมหึมารวมแล้ว 1.28 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนตามตาราง
- ค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปการบินไทย (พูดง่ายๆ คือเงินจ้างพนักงานออก) -4,167 ล้านบาท
- ค่าเสื่อมราคา/ด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน -12,157 ล้านบาท
- กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 3,512 ล้านบาท
รวมแล้วขาดทุน 1.28 หมื่นล้านบาท เมื่อนำไปคิดรวมกับตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,304 ล้านบาท หักภาษีแล้ว ตัวเลขขาดทุนสุทธิออกมา 1.3 หมื่นล้านบาท
จากตัวเลขนี้จะเห็นว่า การบินไทยขาดทุนจากการดำเนินงานน้อย แต่ขาดทุนจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปและการด้อยค่าสินทรัพย์มาก (นี่ขนาดกำไรอัตราแลกเปลี่ยนแล้วด้วยนะ)
ตกลงการบินไทย แย่จริงหรือไม่?
คำถามต่อมาคือ แบบนี้แปลว่าเอาเข้าจริงแล้ว การประกอบธุรกิจของการบินไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่ตัวเลขสุทธิฟ้อง (ขาดทุนดำเนินการ 1.3 พันล้าน จากการขาดทุนรวม 1.3 หมื่นล้าน) จริงหรือไม่?
คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะต่อให้หักส่วนของค่าเสื่อมราคา และแผนปฏิรูปออกไปแล้ว ภาพรวมธุรกิจของการบินไทยก็ยังแย่อยู่ดี
ถ้าเราดูเฉพาะส่วนของการดำเนินงาน จะเห็นว่าต้นทุนของการบินไทยลดลงมากเพราะน้ำมันโลกราคาตกลง (อธิบายง่ายๆ คือโชคช่วย) ซึ่งความโชคดีนี้เป็นกันทั้งโลก ไม่เฉพาะการบินไทยเพียงสายการบินเดียว และสายการบินอื่นก็ทำกำไรกันถ้วนหน้าจากสภาวะน้ำมันโลก (Bangkok Airways ประกาศงบปี 58 กำไรโต 379% รายได้โต 12.6%) แต่การบินไทยกลับขาดทุนซะงั้น
ภาพรวมของการบินไทยจึงสามารถบอกสรุปได้ว่า ต้นทุนน้ำมันลดลงมาก แต่ต้นทุนส่วนอื่นลดลงไม่เยอะพอ แถมรายได้ดันลดลง
ภาพรวมรายได้
ถ้าดูรายละเอียดตัวชี้วัดอื่นที่ไม่ใช่ตัวเลขการเงิน จะเห็นข้อมูลดังนี้
ผู้โดยสาร (กรอบสีแดง)
- จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11.3%
- ปริมาณการผลิต (จำนวนที่นั่งxระยะทางที่การบินไทยผลิตขึ้นมาขาย) คงตัว เป็นผลมาจากการปรับลดเส้นทางบินข้ามทวีปหลายเส้นทางลง
- สัดส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (load factor หรือ cabin factor) เพิ่มขึ้น 4% เป็น 72.9%
- รายได้เฉลี่ยต่อผู้โดยสารหนึ่งคน ลดลง -7.4%
ในภาพรวมถือว่าดีขึ้นจากปีก่อน ทั้งแง่จำนวนผู้โดยสาร และสัดส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (ผลิตที่นั่งมาขายแล้วใช้คุ้มค่ามากขึ้น) แต่รายได้เฉลี่ยกลับลดลง ซึ่งการบินไทยอธิบายว่าเกิดจาก อัตราแลกเปลี่ยน, การแข่งขันรุนแรง, การปรับลดค่าธรรมเนียมน้ำมัน (fuel surcharge)
ตรงนี้เราคิดว่า ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมน้ำมัน เป็นภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอยู่แล้ว (เจอเรื่องนี้เหมือนกันทุกบริษัท) ปัญหาจริงๆ ของการบินไทยจึงอยู่ที่การแข่งขันที่รุนแรง นั่นแปลว่าการบินไทยยังแข่งขันในเรื่องราคาได้ไม่ดีนักนั่นเอง
การขนส่งสินค้า (กรอบสีน้ำเงิน)
ภาพรวมของการขนส่งสินค้า จะเห็นว่าตัวชี้วัดตกลงทุกตัว และถ้าดูรายได้จากการขนส่งสินค้าหายไปจากปีก่อนถึง 5 พันล้านบาท
การบินไทยอธิบายว่าปัญหาการเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่การนำเข้า-ส่งออกลดลง มีปัญหาด้านการส่งออกไปยุโรป รวมถึงการปลดระวางเครื่องบินขนส่งสินค้า 2 ลำด้วย
ตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นความซวยของการบินไทยด้วยส่วนหนึ่ง ที่เศรษฐกิจไทยมาแย่ช่วงนี้พอดี รายได้เลยหายไปเยอะ
การใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (กรอบสีเขียว)
แผนการปฏิรูปการบินไทยที่ประกาศไว้คือลดขนาดฝูงบินลง ซึ่งก็ทำได้ตามแผนคือลดไป 7 ลำจาก 102 ลำลงมาเหลือ 95 ลำ และใช้ประโยชน์จากเครื่องบินที่มีอยู่ได้ดีขึ้น คือเครื่องบินที่มีอยู่แล้วออกมาใช้บินเยอะขึ้น
ภาพรวมรายจ่าย
ดูตัวเลขฝั่งรายได้ไปแล้ว มาดูตัวเลขฝั่งรายจ่ายกันบ้าง
จากตาราง กรอบที่ทำสีเขียวไว้คือ่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ๆ ขององค์กร ซึ่งได้แก่ ค่าตอบแทนพนักงาน, ค่าบริการการบิน, ค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ภาพรวมของค่าใช้จ่ายพวกนี้คือ “ลดลง” ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายของการปฏิรูปการบินไทย
ค่าใช้จ่ายหมวดที่เพิ่มมากขึ้น (กรอบสีแดง) กลับเป็น ค่าเช่าเครื่องบิน (ที่เช่าใช้แทนเครื่องบินที่ขายไป) ค่าใช้จ่ายด้านการขายและโฆษณา (ออกโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น โปรโมทเยอะขึ้น ให้ขายตั๋วได้มากขึ้น) และค่าใช้จ่ายด้านการประกันภัย
สรุปส่วนของค่าใช้จ่าย จะเห็นว่าการบินไทยพยายามปรับลดค่าใช้จ่ายลงจริงๆ เพียงแต่ยังช้าอยู่ และไม่รวดเร็วอย่างที่หลายคนอยากเห็น
สรุป ภาพรวมการบินไทยปี 2558
จากงบประมาณตลอดทั้งปี 2015/2558 ของการบินไทย ทิศทางในภาพรวมก็เป็นไปอย่างที่ 2Baht เคยสรุปไว้ตอนงบประมาณไตรมาสที่สาม
- รายได้จากผู้โดยสารลดลง แต่ดัชนีชี้วัดตัวอื่นดีขึ้นอย่างช้าๆ
- รายได้จากการขนส่งสินค้าลดลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยส่งออก นำเข้าน้อยลง
- ต้นทุนค่าน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาก ส่วนต้นทุนอื่นๆ จากการดำเนินการก็พยายามปรับลดลง แต่ยังไม่เยอะพอ
- ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่มากนัก แต่ต้นทุนอื่นๆ ทั้งค่าจ้างพนักงานออก และค่าเสื่อมราคาเครื่องบิน ถือว่าเยอะ ทำให้ขาดทุนเยอะ (แต่รายจ่ายพวกนี้จะมีครั้งเดียว)
เราคิดว่าสภาวะของการบินไทยในปัจจุบัน เกิดจากการตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาดเมื่อหลายปีก่อน ทั้งการซื้อเครื่องบินเยอะเกินความจำเป็น และประสิทธิภาพของตัวธุรกิจเองก็ไม่ได้ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
การบินไทยปี 2558 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากตัวชี้วัดหลายๆ ทั้งอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร และการปรับลดค่าใช้จ่ายลง แม้จะยังไม่ดีมากอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็เห็นสัญญาณว่าการบินไทยค่อยๆ ฟื้นตัว
ปัจจัยภายนอกของการบินไทยมีทั้งความโชคดี (น้ำมันลง) และความโชคร้าย (เศรษฐกิจไทยส่งออกลดลง) อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน แต่ปัจจัยพวกนี้ควบคุมไม่ได้ และต้องจำใจยอมรับสภาพกันไปทั้งในเชิงบวกและลบ
แต่สุดท้ายแล้ว ต้องกลับไปดูที่ตัวความสามารถในการแข่งขันของการบินไทยเอง ที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ถึงแม้จะเห็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังปรับตัวได้ไม่เร็วและไม่มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามแข่งขันระดับโลก ที่สายการบินยักษ์ใหญ่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดดังเช่นในปัจจุบัน
ทิศทางของการบินไทยปี 2559 จึงยังคงเดิมเช่นเดียวกับปี 2558 นั่นคือหารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรลง และปรับปรุงประสิทธิภาพภายในให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลา
ข้อมูลอ้างอิง: ผลประกอบการปี 2558 การบินไทย (PDF)