การบินไทย เผยตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2016 ผลออกมาว่าขาดทุน 2.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าปรับปรุงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนถึง 12.8 พันล้านบาท หรือขาดทุนน้อยลง 62.2% ถือเป็นสัญญาณบวกที่แผนการฟื้นฟูการบินไทยยังเดินหน้าไปแบบช้าๆ
รายได้จากการดำเนินงาน ลดการขาดทุนลงได้ 3 พันล้านบาท
ถ้าดูงบการเงินของการบินไทย สถานการณ์ในไตรมาสนี้คือ ค่าใช้จ่ายยังมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ แต่รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีถือเป็นช่วง low season ทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย
ตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงาน (operating profit) จึงอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 4.7 พันล้านบาท ถือเป็นพัฒนาการที่ดี ที่สามารถลดระดับการขาดทุนลงได้)
ยอดขาดทุนหลักมาจากการด้อยค่าสินทรัพย์
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการดำเนินงาน จะเห็นว่ารายจ่ายก้อนใหญ่ของการบินไทยในไตรมาสนี้คือ การด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน 1.8 พันล้านบาท และค่าชดเชยพนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดอีก 427 ล้านบาท เมื่อบวกกับกำไรอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน 595 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนก่อนเสียภาษี 3.4 พันล้านบาท
เมื่อหักลบกับภาษีแล้ว การบินไทยจึงมียอดขาดทุนสุทธิ (net loss) ที่ 2.9 พันล้านบาท ถือว่าดีกว่าไตรมาส 2 ของปี 2558 ที่ขาดทุนจากการดำเนินงานเยอะอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอค่าชดเชยสูง แถมขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีกเยอะมาก
วิเคราะห์รายได้การบินไทย รายได้จากผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย
การบินไทยอธิบายว่า ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว และมีการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน บวกกับภัยก่อการร้ายในยุโรป ทำให้ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้น 0.8% แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารตามระยะทาง (RPK – revenue passenger kilometers) ลดลง 0.6% จากปีก่อน และอัตราการเฉลี่ยของบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) ลงมาที่ 69% ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย
การบินไทยระบุว่าเส้นทางที่รายได้จากผู้โดยสารลดลงคือเส้นทางบินในเอเชีย เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่เส้นทางบินในประเทศ (Thai Smile) และเส้นทางบินข้ามทวีป (ยุโรป-ออสเตรเลีย) กลับเพิ่มขึ้น
ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (เวลาบินเฉลี่ยต่อเครื่องต่อวัน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.9 ชั่วโมงเป็น 11 ชั่วโมง (0.9%) ถือว่ารีดประสิทธิภาพได้มากขึ้น แม้จะไม่เยอะมากนักก็ตาม
ในภาพรวมต้องถือว่าฝั่งของรายได้ การบินไทยยังมีปัญหาอยู่บ้าง มีดัชนีด้านผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลจากการแข่งขันในตลาด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ก็มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นบ้างในบางจุดเช่นกัน
รายจ่ายจากการดำเนินงาน: ต้นทุนน้ำมันลดลง 3 พันล้าน แต่รายจ่ายอื่นยังลดได้ไม่เยอะนัก
ส่วนรายจ่ายของการบินไทยไตรมาสนี้ สามารถลดรายจ่ายจากค่าน้ำมันลงได้จากเดิมประมาณ 3 พันล้านบาท (-21.3%) ในขณะที่รายจ่ายด้านอื่นๆ ลดลงเล็กน้อย (-0.6%)
ถ้าพิจารณาในรายละเอียดของรายจ่ายที่ไม่ใช่ค่าน้ำมัน จะเห็นว่ามีรายจ่ายหลายตัวที่สามารถปรับลดลงได้จากเดิม เช่น ค่าตอบแทนพนักงาน (ซึ่งถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่) ลดลง 6.1% หรือ 466 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและนโยบายการลดจำนวนพนักงานลง
อย่างไรก็ตาม รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้อนใหญ่ๆ มาจาก
- ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ จากการเช่าเครื่อง Boeing 787-8 เพิ่ม 2 ลำ และเงินบาทอ่อนค่าทำให้ค่าเช่าแพงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท
- กำไรจากบริษัทลูกลดลง โดยสายการบินนกแอร์ ที่ขาดทุนเพิ่มจาก 249 ล้านบาทในปีก่อน มาเป็น 270 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนบริษัทลูกอื่นๆ มีกำไรทั้งหมด
สรุปแนวโน้มการบินไทย: รายจ่ายค่อยๆ ลด แต่รายได้แกว่งตามฤดูกาล
ภาพรวมของการบินไทยไตรมาส 2/2559 ต้องบอกว่าสามารถลดการขาดทุนจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลงได้มาก ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาทำกำไรได้ อันเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลง และรายจ่ายรวมที่ยังเยอะอยู่ (แม้จะค่อยๆ ลดรายจ่ายลงมาแล้วก็ยังไม่เร็วพอ)
ถ้าดูตัวเลขงบการเงินของการบินไทยในไตรมาส 1/2559 ประกอบ จะเห็นว่ารายจ่ายของการบินไทยค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังอยู่ระดับราวๆ 4 หมื่นกว่าล้านบาทต่อไตรมาส (ถึงแม้จะลดลงจากปีก่อนแต่ก็ยังไม่ลดแบบฮวบฮาบ) ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างคงที่
แต่เมื่อดูตัวเลขรายได้ จะเห็นว่ารายได้ค่อนข้างแกว่งคือ ไตรมาสแรกที่เป็นฤดูท่องเที่ยว มีรายได้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ผลประกอบการเฉพาะจากการดำเนินงาน (operating profit) เลยออกมากำไรถึง 7.2 พันล้านบาท แต่พอมาถึงไตรมาสที่สอง รายได้ลดลงเหลือ 4.1 หมื่นล้านบาท หักกันมาจึงขาดทุนแทน
ในระยะยาวก็ยังต้องเป็นการบ้านของการบินไทย ในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อีกทางก็ต้องเดินหน้าลดรายจ่ายลงอีก เพื่อให้สามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืน ไม่แกว่งไปมาทุกไตรมาสอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งก็ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับขาดทุนต่อเนื่องทุกไตรมาสอย่างเมื่อ 1-2 ปีก่อน)
ข้อมูลจาก ผลประกอบการ การบินไทย