เปิดแผนการฟื้นฟูการบินไทย เส้นทางกลับสู่ความยิ่งใหญ่หรือเป็นได้แค่ฝัน?

การบินไทย หรือ Thai Airways สายการบินแห่งชาติของคนไทยประสบปัญหาขาดทุนสะสมจำนวนมหาศาลในช่วงหลัง จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางหาวิธีฟื้นฟูหรือปฏิรูปการบินไทยให้กลับมาโดดเด่นดังเดิม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางไม่ปล่อยให้การบินไทยล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมาย แต่ยังให้โอกาสการบินไทยเสนอแผนการปฏิรูปตัวเอง ว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้บ้าง

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การบินไทยแถลงข่าวประกาศแนวทางฟื้นฟูตัวเอง และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก ในโอกาสนี้ 2Baht ขอนำเสนอแผนการปฏิรูปการบินไทยอย่างละเอียด โดยอ้างอิงจากเอกสารของการบินไทยเอง

หมายเหตุ: เอกสารนำเสนอของการบินไทยต่อนักลงทุน เพื่อเผยแผนการปฏิรูปการบินไทยครั้งสำคัญในปี 2015 (เอกสารเผยแพร่ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 และดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์การบินไทย

Thai Airways Transformation

เอกสารชิ้นนี้เริ่มจากนำเสนอปัญหาของการบินไทย ว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง

ปัญหา: สภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมการบินโลก

การบินไทยประเมินสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินโลกที่เปลี่ยนไปจากอดีต

  • เดิมทีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นศูนย์กลางหรือฮับการบินระหว่างยุโรป-เอเชีย แต่ปัจจุบันกำลังถูกท้าทายจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ประเทศเศรษฐีน้ำมันหลายรายกำลังเร่งสร้างศักยภาพด้านการบินของตัวเอง
  • เทคโนโลยีการบินสมัยใหม่ช่วยให้เครื่องบินข้ามทวีปบินได้ไกลขึ้น ความจำเป็นในการหยุดแวะพักจึงน้อยลง
  • คุณภาพการให้บริการของการบินไทย (Thai Touch) กำลังถูกท้าทายจากสายการบินอื่นๆ ที่แข่งขันเรื่องคุณภาพบริการให้ดีไม่แพ้กัน
  • เดิมที ประเทศไทยมีจุดเด่นที่ค่าแรงถูก แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงได้ ซึ่งการบินไทยอาจยังปรับตัวไม่ทัน ในขณะที่คู่แข่งก้าวไปไกลแล้ว
  • สายการบินคู่แข่งหลายรายเร่งพัฒนาขึ้นทั้งในแง่จำนวนเครื่องบินและเส้นทางบิน

ปัญหา: การแข่งขันจากสายการบินโลว์คอสต์ในไทย

ในประเทศไทยเองก็มีสายการบินโลว์คอสต์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากมาย จากเดิมที่มีแค่ AirAsia และ Nok Air ก็เพิ่มมาทั้ง NokScoot, ThaiVietJetAir, Thai Lion Air, AirAsia X

สายการบินโลว์คอสต์เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานลูกค้าของตัวเองอยู่แล้ว และมีเครื่องบินให้บริการเป็นจำนวนมาก ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวต่อการบินไทยโดยตรง

Thai Low-cost Airlines

ปัญหา: ผลประกอบการแย่-อันดับสายการบินร่วง

ต้องยอมรับว่าผลประกอบการรายไตรมาสของการบินไทยย่ำแย่มากในช่วงหลัง โดยเฉพาะในปี 2014 ที่ติดลบทุกไตรมาส และถ้านับผลประกอบการ 2 ปีล่าสุด ผลประกอบการติดลบไปแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท

Thai Airways Finance

ในแง่การจัดคุณภาพสายการบินของ Skytrax ที่ถูกยอมรับในระดับโลก การบินไทยเคยขึ้นไปสูงถึงอันดับ 5 ของโลกในปี 2011 แต่ในปี 2013 เป็นต้นมา การบินไทยไม่ติด Top 10 เลยด้วยซ้ำ (ปี 2013 อยู่อันดับ 15 ส่วนปี 2014 อยู่อันดับ 14)

Thai Airways Skytrax Ranking

ปัญหา: เส้นทางบินที่ทำยังไงก็ขาดทุน

การบินไทยมีเส้นทางบินหลายเส้นที่คำนวณต้นทุนทั้งหมดแล้วขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มบิน ดังนั้นถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การบินไทยก็จะติดลบเรื่อยๆ ไม่มีทางโงหัวได้

ในภาพเป็นกราฟแสดงเส้นทางบินที่การบินไทยมีกำไร (สีน้ำเงิน) และเส้นทางบินที่ขาดทุน (สีแดง) อันเป็นผลมาจากต้นทุนแฝง ดังนั้นต่อให้เพิ่มเส้นทางบินขึ้นแต่ถ้ายังเป็นเส้นทางที่ขาดทุน ก็จะขาดทุนไม่รู้จบ

Thai Airways Loss Routes

ปัญหา: ต้นทุนแฝงเพราะมีเครื่องบินมากรุ่นเกินไป

อีกประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักคือการบินไทยมีเครื่องบินประมาณ 100 ลำ แต่แยกรุ่นย่อยได้มากถึง 11 รุ่น ในขณะที่คู่แข่งในภูมิภาคอย่าง Cathay มีเครื่องบินมากกว่าเราคือ 161 ลำ แต่แยกได้แค่ 8 รุ่นเท่านั้น

ผลคือการบินไทยมีค่าใช้จ่ายแฝงด้านการบำรุงรักษาที่มากเกินควร ถ้าสามารถลดจำนวนรุ่นของเครื่องบินลง ก็จะช่วยลดต้นทุนด้านการบำรุงรักษา อะไหล่ ช่าง ลงได้มาก

Thai Fleets Compared

ปัญหา: การดำเนินการไร้ประสิทธิภาพ

นอกจากต้นทุนด้านธุรกิจแล้ว ในส่วนของการดำเนินการ (operation) ของการบินไทยก็ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ มีเครื่องบินจอดทิ้งเฉยๆ ไม่คุ้มค่ามากมาย (ค่าเฉลี่ยคือเครื่องบินของการบินไทยบิน 11 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่ถึง 50% ของเวลาทั้งวัน) ต้นทุนการปฏิบัติงานสูง ผลิตภาพต่ำ กระบวนการภายในซ้ำซ้อน การตัดสินใจเชิงธุรกิจล่าช้าไม่ทันกิน

สู่เส้นทางการปฏิรูป-ยกเครื่องการบินไทย

การบินไทยตั้งเป้าหมายของการปฏิรูปตัวเองไว้ 3 ข้อคือ

  1. กลับคืนเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภูมิใจ
  2. ผลประกอบการกลับมากำไรและเติบโตจากเดิม
  3. กลับมาเป็นสายการบิน Top 3 ของโลก

แนวทางการปฏิรูปแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

  1. หยุดขาดทุน ด้วยการตัดเส้นทางบินที่ไม่ทำเงิน ลดความถี่ของเส้นทางบินบางเส้นทาง และปรับปรุงวิธีจัดหารายได้ให้ดีกว่าเดิม
  2. ปรับฐานให้เข้มแข็ง ลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของทั้งองค์กรลง ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ และหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม
  3. เติบโตอย่างยั่งยืน ใช้ฐานองค์กรที่ปรับปรุงใหม่สร้างรายได้ และหาทางสร้างกำไรในระยะยาว

Thai Transformation Stages

แนวทางการปฏิรูปในระยะสั้น (ปี 2015-2016)

การบินไทยแบ่งแผนการฟื้นฟูตัวเองออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่

1) ตัดเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร

เส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร ต้องตัดสินใจหยุดบิน และหันไปโฟกัสเพิ่มรายได้กับเส้นทางบินที่ทำกำไรให้มากขึ้น กระบวนการนี้จะช่วยลดปริมาณการขาดทุนของการบินไทยลง

Thai Airways Route Transform

2) ลดขนาดฝูงบิน

ขายเครื่องบินออกไปจากปัจจุบัน 102 ลำให้เหลือน้อยกว่า 90 ลำ (ขายอย่างน้อย 22 ลำ) และลดจำนวนรุ่นของเครื่องบินจาก 11 รุ่นเหลือ 8 รุ่น เครื่องบินที่ขายออกไปคือเครื่องที่ไม่ได้ใช้ จอดทิ้งไว้เฉยๆ เสียค่าเสื่อมราคา-บำรุงรักษา และนำมาทำประโยชน์ไม่ได้

Thai Fleet Reduction

3) ปรับปรุงยุทธศาสตร์การหารายได้

  • ปรับปรุงต้นทุนการให้บริการโดยไม่ลดคุณภาพของการบริการ
  • ปรับปรุงช่องทางการขายตั๋วให้หลากหลายมากขึ้น
  • พัฒนาคุณภาพบริการให้สม่ำเสมอ

4) ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร

การบินไทยจะลดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิงลง

5) ปรับโครงสร้างองค์กร

ลดความซ้ำซ้อนของการตัดสินใจ โครงสร้างองค์กรต้องกระชับและแบนลง ลำดับชั้นในองค์กรต้องลดลง

6) ปรับปรุงสายธุรกิจ

หาระบบบริหารธุรกิจหลัก (core) และธุรกิจที่ไม่ใช่สายหลัก (non-core) ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร อะไรที่ไม่จำเป็นต้องทำอาจขายทิ้งได้ในอนาคต

ภาพฝัน: การบินไทยยุคหลังปฏิรูป

เมื่อดำเนินการปฏิรูปทั้ง 6 มิติแล้ว การบินไทยตั้งเป้าว่าการปรับปรุงธุรกิจจะตัดส่วนขาดทุน (ส่วนสีแดงในกราฟอันก่อน) และเพิ่มส่วนต่างกำไร (ส่วนสีน้ำเงินในภาพ) ให้สูงขึ้น ช่วยให้องค์กรกลับมาทำกำไรได้

Thai Airways Dream

เพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จลุล่วงไปได้ การบินได้จะตั้งสำนักงานบริหารการปฏิรูป (Corporate Transformation Management Office) เป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน มีตัวแทนจากทุกฝ่ายในการบินไทยเข้าร่วม และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ว่าแต่ละฝ่ายจะต้องทำอะไรบ้าง

การบินไทยตั้งความหวังว่าจะปฏิรูปตัวเองและกลับมายิ่งใหญ่ได้สำเร็จ เพราะในอดีตก็มีสายการบินระดับโลกหลายสายที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และผ่านกระบวนการฟื้นฟูจนกลับมาเป็นสายการบินคุณภาพได้ เช่น Continental Airlines, Japan Airlines และ Lufthansa

Thai - Airlines Reform Cases

แน่นอนว่าการปฏิรูปการบินไทยจำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งการบินไทยจะขอให้กระทรวงการคลังอัดฉีดเงินเข้ามาอีกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน (liquidity) ที่ผ่านมาในปี 2014 การบินไทยได้เงินมาแล้ว 10,000 ล้านบาท และคาดว่าต้องใช้เงินอีก 15,000 ล้านบาทในปี 2015

Thai Airways Liquidity

ทั้งหมดนี้คือ “แผนการฟื้นฟู” ของการบินไทยที่ผู้บริหารของการบินไทยนำเสนอ ส่วนจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปในอีกไม่นานเกินรอ