แนะนำ 10 พิพิธภัณฑ์ยอดเยี่ยมของไทย จากการจัดอันดับของ TripAdvisor

ถึงแม้ “พิพิธภัณฑ์” ในบ้านเราอาจมีไม่เยอะมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีพิพิธภัณฑ์เจ๋งๆ หลบซ่อนตัวอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยรอให้พบเจอการค้นหา

ในโอกาสนี้ 2Baht.com จะมาแนะนำ “10 พิพิธภัณฑ์ยอดเยี่ยมของไทย” (Top 10 Museums — Thailand) จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ TripAdvisor ในปี 2014 เผื่อว่าผู้ที่สนใจท่องเที่ยวไทยจะมีตัวเลือกในการไปเที่ยวชมเพิ่มขึ้น

เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อพิพิธภัณฑ์บางแห่งมาก่อน แต่หลังจากอ่านแล้ว น่าจะสนใจไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Unseen เหล่านี้อย่างแน่นอน

อันดับ 10 พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ถ.พญาไท

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด น่าจะถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ชุดนี้ เพราะตั้งอยู่ ถ.พญาไท ใกล้กับโรงพยาบาลพญาไท 1 และสามารถเดินมาได้ไม่ไกลจากสถานี BTS พญาไท (อยู่เยื้องกับโรงแรมสุโกศล และโรงแรม Pullman รางน้ำ ฝั่งพญาไท)

วังสวนผักกาด เป็นวังของพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร พระโอรสองค์โตของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ต้นตระกูลบริพัตร (มีศักดิ์เป็นลุงของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ปัจจุบันดูแลโดยมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ภายในประกอบด้วยเรือนไทย 8 หลัง มีการจัดแสดงศิลปะและโบราณวัตถุที่ตระกูลบริพัตรเก็บสะสมไว้

สาเหตุที่วังแห่งนี้ชื่อ “วังสวนผักกาด” เกิดจาก ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระชายา ได้ซื้อที่ดินเดิมที่เป็นแปลงสวนผักกาดของคนจีน

เปิดบริการเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 น.-16.00 น. บัตรเข้าชมคนไทย 50 บาท, โทรศัพท์ 02-246-1775, เว็บไซต์

วังสวนผักกาด ภาพจาก Wikipedia
วังสวนผักกาด ภาพจาก Wikipedia

อันดับ 9 บ้านดำ รวมงานศิลป์ อ.ถวัลย์ ดัชนี จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์รวบรวมงานศิลปะของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินไทยชื่อก้องที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานนี้ พิพิธภัฑณ์ “บ้านดำ” (Baandum Museum) รวบรวมทั้งภาพเขียนและปฏิมากรรมของ อ.ถวัลย์ ให้ผู้ชื่นชอบงานศิลปะได้รับชมทั้งภายในและสวนภายนอกอาคาร

ใครที่เคยชื่นชมงานของ อ.ถวัลย์ ย่อมไม่ควรพลาด ส่วนใครที่แวะไปเที่ยวเชียงราย อยากหาสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจก็สามารถแวะไปได้ อยู่ห่างจากตัว อ.เมืองเชียงราย ไม่ไกลนัก

บ้านดำ เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น. (พักเที่ยง 12.00-13.00 น.) ไม่เสียค่าเข้าชม, เว็บไซต์

ภาพจาก Duncan Taralrud-Bay
ภาพจาก Duncan Taralrud-Bay

อันดับ 8 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในรั้วของพระบรมมหาราชวัง (รั้วเดียวกับ “วัดพระแก้ว”) มีพิพิธภัณฑ์ซุกซ่อนอยู่อีกแห่ง นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าช้าง ห่างไปเพียงแค่ข้ามถนน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่นำอาคารว่างในพระบรมมหาราชวังมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านผ้าไทย สิ่งจัดแสดงได้แก่สิ่งทอและเครื่องแต่งกายทั้งจากราชสำนักไทย จากประเทศไทย และจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คอลเลคชั่นสำคัญมีทั้งฉลองพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทุกวัน เวลา 9.00-16.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 50 บาท, หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-8420, เว็บไซต์

ภาพจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ภาพจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

อันดับ 7 พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช

พิพิธภัณฑ์ชั้นยอดอีกแห่งที่หลบซ่อนตัวอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช (ที่ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่) นั่นคือพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช เกิดจากการเก็บรวบรวมสิ่งของด้านการแพทย์ของแต่ละภาควิชา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และเมื่อโรงพยาบาลศิริราชได้รับมอบพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี ใน พ.ศ. 2546 จึงตั้ง พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช (Siriraj Medical Museum) ขึ้นมาเพื่อเก็บสะสมข้อมูลทางการแพทย์ของไทยเอาไว้

สิ่งน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีหลายอย่าง เช่น ตัวอย่างโรคภัยไข้เจ็บแบบต่างๆ ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ ตัวอย่างกายวิภาคร่างกาย ในส่วนของสิ่งของจัดแสดงยอดนิยมได้แก่ ศพของ “ซีอุย” ฆาตกรชื่อดังในประวัติศาสตร์ไทย และเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8

เปิดทำการวันจันทร์, วันพุธ – วันอาทิตย์, เวลา 10.00 – 17.00 น., ค่าเข้าชม คนไทย 80 บาท, เด็ก 25 บาท, เว็บไซต์

พิพิธภัณฑ์ศิริราชยังเปิดพิพิธภัณฑ์สาขาคือ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน บริเวณสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช เพื่อแสดงประวัติศาสตร์การแพทย์ การก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงเรียนแพทย์แห่งแรก พัฒนาวิทยาการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช

ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช
ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช

อันดับ 6 วิหารเซียน จ.ชลบุรี

อเนกกุศลศาลา (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิหารเซียน”) เป็นอาคาร 3 ชั้นสถาปัตยกรรมไทย-จีน สร้างโดยนักธุรกิจชาวจีน นายสง่า กุลกอบเกียรติ เปิดบริการเมื่อ พ.ศ. 2536 ส่วนชื่อ “อเนกกุศลศาลา” นั้นเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จุดเด่นของวิหารเซียนย่อมเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน มีปฏิมากรรมร่วมสมัยของจีนมากมาย รวมถึงโบราณวัตถุอย่างหุ่นทหารดินเผา รถม้าสำริดจากสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่รัฐบาลจีนมอบให้แก่รัฐบาลไทย และนำมาเก็บไว้ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูป เจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าต่างๆ ของจีนเป็นจำนวนมาก

ค่าเข้าชมราคา 50 บาท, เปิดเวลา 08.00-17.00 น., Facebook

ภาพจาก Facebook - Viharnra Sien
ภาพจาก Facebook – Viharnra Sien

อันดับ 5 หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

เหนือสุดแดนสยามที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่พรมแดนสามประเทศ ไทย-ลาว-พม่า มาบรรจบกัน มี หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ (Hall of Opium) แสดงประวัติความเป็นมาของ “ฝิ่น” พืชยาเสพติดชื่อก้องโลกที่มีทั้งประโยชน์และโทษ และเป็นจุดกำเนิดของการผลิตเฮโรอีน ณ พื้นที่แถบนี้ในอดีต

อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของ “สมเด็จย่า” ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำให้ไร้สิ้นซึ่งยาเสพติด ปัจจุบันหอฝิ่นแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์

หมายเลขโทรศัพท์ 0-5378-4444-6, เว็บไซต์, แผนที่

ภาพจำลองการสูบฝิ่นในอดีต - ภาพจากเว็บไซต์หอฝิ่น
ภาพจำลองการสูบฝิ่นในอดีต – ภาพจากเว็บไซต์หอฝิ่น

อันดับ 4 พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จ.สมุทรปราการ

ใครที่ผ่านไปแถวสมุทรปราการคงรู้จัก “ช้างเอราวัณ 3 เศียร” ขนาดใหญ่ยักษ์ยืนอยู่ริมถนนเด่นเป็นสง่าแต่ไกล แม้ดูภายนอกจะเป็นแค่รูปปั้นช้างขนาดใหญ่ แต่จริงๆ แล้วภายใต้ฐานช้างเอราวัณ ก็มีพิพิธภัณฑ์ด้านวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์ จำลองป่าหิมพานต์ และศิลปะวัฒนธรรมตะวันออกตามความเชื่อแบบฮินดู-พุทธ ถ้าเผื่อใครไม่ทราบ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในเครือ “เมืองโบราณ” ด้วย (เจ้าของเดียวกัน)

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เปิดให้บริการทุกวันเวลา 9.00-20.00 น., อัตราค่าเข้าชมช่วงกลางวัน (ก่อน 17.00 น.) ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก 100 บาท มีบริการไกด์พาชมเป็นรอบๆ, หมายเลขโทรศัพท์ 02 371 3135-6, เว็บไซต์

ภาพจากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ภาพจากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

อันดับ 3 พิพิธภัณฑ์แมลงโลกและสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติ จ.เชียงใหม่

“พิพิธภัณฑ์แมลงโลก” หรือชื่อภาษาอังกฤษ Museum of World Insects and Natural Wonders เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ก่อตั้งโดยคุณมานพ รัตนฤทธิกุล ที่สะสมแมลงทั่วโลกมากว่า 50 ปี คุณมานพมีโอกาสทำงานวิจัยเรื่องแมลงโดยเฉพาะยุง และใช้โอกาสนี้เก็บสะสมแมลง ฟอสซิลของซากพืช-ซากสัตว์จำนวนมหาศาลให้เรียนรู้ ถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิพิธภัณฑ์แมลงโลก ตั้งอยู่ที่ถนนนิมมานเหมินทร์ 13 อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดทุกวันเวลา 9.00-17.00 น. หมายเลขโทรศัพท์ 053-211891, เว็บไซต์

คอลเลคชั่นผีเสื้อจากพิพิธภัณฑ์แมลงโลก - ภาพจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์แมลงฯ
คอลเลคชั่นผีเสื้อจากพิพิธภัณฑ์แมลงโลก – ภาพจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์แมลงฯ

อันดับ 2 Museum of Contemporary Art (MOCA) ถ.วิภาวดีรังสิต

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA ของเจ้าสัวบุญชัย เบญจรงค์กุล แห่งกลุ่ม UCOM สร้างอยู่ที่ ถ.วิภาวดีรังสิต ติดกับตึกเบญจจินดา เยื้องกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ตัวพิพิธภัณฑ์เกิดจากความสนใจในงานศิลปะของเจ้าสัวบุญชัยเอง และซื้องานศิลปะเก็บสะสมไว้เป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวจำนวนมาก ภาพเขียนจากศิลปินไทยชื่อดัง เช่น จักรพันธุ์ โปษยกฤต, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ถวัลย์ ดัชนี, ทวี รัชนีกร, ปรีชา เถาทอง, เหม เวชกร เป็นต้น

ค่าเข้าชม 180 บาท, เปิดบริการวันอังคาร – วันศุกร์ เวลา 10.00-17.00 น., วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 11.00-18.00 น. (หยุดวันจันทร์) หมายเลขโทรศัพท์ 02 953 1005-7, เว็บไซต์

ภาพจาก Facebook MOCA
ภาพจาก Facebook MOCA

อันดับ 1 ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี

ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก (Hellfire Pass) เป็นส่วนหนึ่งของตำนาน “ทางรถไฟสายมรณะ “ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นต้องการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า เพื่อลำเลียงเสบียงและอาวุธเพื่อบุกอินเดีย และเกณฑ์เชลยจากกองทัพพันธมิตรมาสร้างทางรถไฟแห่งนี้ การขุดเจาะบริเวณช่องเขาขาดเต็มไปด้วยความยากลำบากทางภูมิประเทศ และมีเชลยสงครามเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เรื่องราวของทางรถไฟแห่งนี้ถูกนำไปเล่าเป็นภาพยนตร์ The Bridge of River Kwai มีชื่อเสียงไปทั่วโลก (โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำแคว)

หลังจากนั้น รัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในช่วงสงครามโลก นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินชมบรรยากาศทางรถไฟเก่าในช่องเขาแคบๆ ที่ยังคงความทรงจำอันโหดร้ายทารุณในช่วงนั้นเอาไว้

ช่องเขาขาด ตั้งอยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา บริเวณกิโลเมตรที่ 64–65 บนทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ) (เว็บไซต์เว็บไซต์ ททท.) เปิดเวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันอาทิตย์

ภาพจาก Flickr abrinsky
ภาพจาก Flickr abrinsky

ข้อมูลการจัดอันดับจาก TripAdvisor, ภาพประกอบและข้อมูลรวบรวมโดย 2Baht.com