รู้จัก Traveloka (ทราเวลโลก้า) เว็บจองโรงแรม ที่พัก และตั๋วเครื่องบิน สตาร์ตอัพจากอินโดที่เข้ามาทำตลาดในไทย

รู้จัก Traveloka เว็บจองโรงแรมจากอินโดที่เข้ามาทำตลาดในไทย

ตลาดเว็บจองโรงแรม (OTA : Online Travel Agency) ในประเทศไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่ได้มีแค่เว็บยอดฮิตอย่าง Agoda, Expedia, Booking.com หรือ Hotels.com เท่านั้น

ล่าสุดหลายคนอาจเริ่มเห็นโฆษณาของผู้เล่นหน้าใหม่ “Traveloka” (ทราเวลโลก้า) สตาร์ตอัพมาแรง ด้านการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน อิมพอร์ตจากอินโดนีเซีย แถมยังเป็นสตาร์ตอัพบิ๊กเนมที่ถูกจัดกลุ่มว่าเป็น “ยูนิคอร์น” (มีมูลค่าบริษัทแตะระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ) ของประเทศอินโดนีเซียด้วย

เรามารู้จักประวัติของบริษัท Traveloka กันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

โลโก้ Traveloka
Traveloka ใช้โลโก้ ‘นกปากแอ่น (Godwit)’ ซึ่งทำสถิติบินไกลที่สุดโดยไม่พักถึง 11,500 กม. – ที่มา Quora

ตำนานการก่อตั้ง Traveloka แรงบันดาลใจจากเมืองจีน

การก่อตั้งสตาร์ตอัพท้องถิ่นชื่อดัง บางครั้งก็ได้รับอิทธิพลมาจากการไปใช้ชีวิตในต่างแดน อย่างคุณยอด ชินสุภัคกุล (CEO) ผู้ก่อตั้งเว็บวงใน (Wongnai) ที่เกิดความประทับใจ Yelp เว็บค้นหาร้านอาหารขณะที่เรียนต่อในสหรัฐ แต่พอกลับมาไทยระหว่างปิดเทอมก็ไม่มีบริการอย่างเดียวกันให้ใช้ (สัมภาษณ์ทีมวงใน – Wongnai จาก blognone)

Traveloka ก็เช่นเดียวกัน คุณ Ferry Unardi หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO Traveloka มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในปี 2011 ระหว่างที่คุณ Ferry ทำงาน Microsoft สหรัฐอเมริกามาครบ 3 ปี ก็อยากหันเหไปด้านธุรกิจบ้าง ซึ่งก็ได้การตอบรับจาก MBA ที่ Harvard Business School แล้ว และยังวางแผนไปเรียนต่อภาษาที่เมืองจีนก่อนเป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างนั้นเขาเกิดความประทับใจกับธุรกิจออนไลน์สัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Taobao, Ctrip, Qunar ถึงขั้นว่าต้องเข้าเว็บเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน-ห้องพัก อย่าง Qunar เว็บจองตั๋วชื่อดังของจีน เพื่อค้นหาดีลดีๆ แทบทุกวัน

จากความชอบก็เริ่มเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ในบ้านเกิดตัวเองบ้าง แต่ก็ยังคิดว่าวิชายังไม่แก่กล้าพอ จึงกลับไปเรียนปริญญาโทที่ Harvard ตามแผนเดิมอีก 1 เทอม แล้วดรอป แม้ว่าใครจะกังขาในการตัดสินใจครั้งนี้ แต่เค้าคิดว่าช่วงที่เหมาะสมและมาได้ถูกจังหวะแล้ว

Traveloka founders
3 ผู้ก่อตั้ง Traveloka (Albert, Derianto และ Ferry) – ภาพจาก Asean-Tech

เริ่มต้นจากเว็บค้นหาตั๋ว (Metasearch)

เมื่อเห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ในอินโดนีเซีย คุณ Ferry จึงชักชวนคู่หูอีก 2 คน คือคุณ Derianto Kusuma เพื่อนร่วมงานที่ Microsoft แต่ขณะนั้นเพิ่งย้ายมาอยู่ LinkedIn และเพื่อนร่วมชั้นอีกคนชื่อคุณ Albert  Zhang ซึ่งทำงานอยู่ NetSuite (บริษัทที่ทำด้าน Cloud ERP ของ Oracle) เข้ามาร่วมก่อตั้ง Traveloka และเปิดตัวเมื่อปี 2012

แรกเริ่มเดิมที Traveloka ได้ใช้โมเดลการทำธุรกิจแบบ “travel metasearch” หรือ เว็บเปรียบเทียบราคาแพคเกจการท่องเที่ยว โดยเอา Qunar จากจีนเป็นต้นแบบ (metasearch คือเว็บค้นหาราคาจากหลายๆ แหล่งมาเปรียบเทียบกัน เว็บที่คนไทยอาจรู้จักคือ Skyscanner ที่ใช้เช็คราคาตั๋วเครื่องบิน)

เว็บ Qunar metasearch สัญชาติจีน
เว็บ Qunar – travel metasearch สัญชาติจีน

ธุรกิจแบบ metasearch มีจุดเด่นที่การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ระบบต่างๆ วัดกันที่ความสามารถของซอฟต์แวร์ล้วนๆ แทบไม่ต้องพึ่งคนเลย

อย่างไรก็ตาม Traveloka มองว่าการทำ travel metasearch ก็เหมือนยี่ปั๊ว (คนกลางที่ช่วยขายตั๋ว) โมเดลธุรกิจคือการขายแพคเกจโดยรับส่วนแบ่งเป็นค่าค่าคอมมิสชั่นจาก OTA (Online Travel Agency) อีกทีหนึ่ง ส่วนต่างกำไรไม่มากนัก ดังนั้นหาก Traveloka ผันตัวเองไปเป็น OTA ก็ย่อมได้ค่าคอมมิสชั่นจากผู้ประกอบการเต็มๆ ผลประโยชน์ตอบแทนย่อมดีกว่า

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะว่าการเปิดเว็บไซต์ OTA มีงานที่ต้องใช้กำลังคนเยอะ อย่างเช่น การประสานงานกับฝั่งผู้ประกอบการ (โรงแรม-รีสอร์ต สายการบิน) และการเตรียม Call Center ไว้คอยบริการลูกค้า อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว Traveloka ก็ฝ่าฟัน ขยายกิจการขึ้นมาจนเป็นสตาร์ตอัพรายใหญ่ของอินโดนีเซีย ควบคู่ไปกับ Tokopedia เว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดังของอินโดนีเซีย

Traveloka Screenshot
เว็บ Traveloka สตาร์ตอัพ OTA จากอินโดนีเซีย

ระดมเงินทุน เลื่อนชั้นเป็น Unicorn

Traveloka ได้นักลงทุนที่เห็นศักยภาพของตลาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากอย่างอินโดนีเซีย เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทอยู่ 2 ครั้ง ดีลครั้งแรกในปลายปี 2012 จากบริษัท East Ventures และดีลครั้งที่ 2 ในปลายปี 2013 จากกลุ่มบริษัท Rocket Internet  ทำให้ Traveloka มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายร่างจาก “นกสยายปีก” เป็น “ยูนิคอร์น” ไปโดยปริยาย

Traveloka เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งานของตัวเอง ในเวทีงาน Startup Asia Jakarta 2014 ว่ามียอดการเข้าใช้งานในเดือน พฤศจิกายน 2014 ประมาณ 10 ล้านครั้งต่อเดือน ด้วยพนักงานเกินกว่า 270 คน

Ferry Unardi, Traveloka - Startup Asia Jakarta 2014
คุณ Ferry Unardi ในงาน Startup Asia Jakarta 2014

จับตามอง Traveloka เตรียมรุกตลาดเมืองไทย

แน่นอนว่าบริษัทที่กล้าฝันไกลระดับนี้ จะอยู่แค่เพียงประเทศแม่เพียงแห่งเดียวคงไม่พอ เป้าหมายขั้นต่อไปของ Traveloka ย่อมเป็น “อาเซียน”

ปัจจุบัน Traveloka ได้รุกไปยังประเทศอื่นๆ แถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่เมืองไทยเอง ตอนนี้ Traveloka เริ่มบุกมาไทยอย่างเงียบๆ และอาจมีบางคนเริ่มเห็นแคมเปญโฆษณาใน Facebook หรือ Google กันบ้างแล้ว (ใครที่สนใจสามารถเข้าไปจองกันได้นะคะ ลดสูงสุดเกือบ 20% แน่ะ)

Traveloka Ads in Thailand

โปรโมชั่นจองโรงแรม ที่พัก กับ Traveloka

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Traveloka จะเป็นดาวรุ่งมาแรงในภูมิภาคนี้ แต่ต้องยอมรับว่าตลาดเว็บจองโรงแรมในบ้านเรามี Agoda ที่เข้มแข็งมากเป็นเจ้าตลาดอยู่ ถึงขนาดคู่แข่งระดับโลกอย่าง Expedia ยังเจาะไม่ค่อยเข้า ดังนั้นคงต้องรอดูกันต่อไปว่า Traveloka จะสามารถบุกเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้หรือไม่

ที่มา – Techinasia, tnooz


Posted

in

by