รอตรวจความปลอดภัยสนามบินอเมริกา อาจต้องรอคิวนาน 2-3 ชั่วโมง

ใครที่เคยไปสหรัฐอเมริกา คงรู้ซึ้งดีถึงกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัย ทั้งสแกนร่างกายและตรวจสอบเอกสารการเดินทาง ที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นชั่วโมง (ผู้เขียนเคยเจอคิวยาว 2 ชั่วโมงหลังลงเครื่องบิน ถ้าจะเข้าห้องน้ำต้องต่อคิวใหม่ และถ้าไม่ติดน้ำหรืออาหารมาด้วยอาจลำบากได้)

ขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยในสนามบินสหรัฐ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานชื่อ  Transportation Security Administration หรือนิยมเรียกกันย่อๆ ว่า TSA

ปัญหาเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยที่ซับซ้อน บวกกับบุคลากรของ TSA ที่ไม่พอเพียง ส่งผลให้คิวของทุกสนามบินในสหรัฐยาวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว

แน่นอนว่ามีผู้โดยสารจำนวนมาก “ตกเครื่องบิน” จากคิวอันแสนยาวของ TSA ฝั่งของสายการบินเองก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่การออกแคมเปญกดดัน โดยชวนผู้โดยสารที่ไม่พอใจ มาช่วยกัน “บ่น” ออกโซเชียลให้ TSA รับทราบ โดยติดแท็ก #ihatethewait ร่วมกัน (เว็บไซต์ I Hate the Wait)

ภาพจาก I Hate the Wait

ในสนามบินบางแห่งที่มีผู้โดยสารเยอะมากๆ เช่น สนามบิน Chicago O’Hare ที่คิวอาจนานถึง 2.5-3 ชั่วโมง ส่งผลให้สายการบินต้องดีเลย์ไฟลท์จำนวนมากเพื่อรอผู้โดยสารที่ติดอยู่ในคิว

สายการบินรายใหญ่อย่าง American Airlines ถึงขั้นทนไม่ไหว ยอมควักกระเป๋าจ้างพนักงานมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของ TSA ในส่วนของการอำนวยความสะดวก เช่น ยื่นถาดสำหรับสแกนกระเป๋า หรือยืนบอกผู้โดยสารให้ถอดรองเท้าหรือหยิบโน้ตบุ๊กออกจากกระเป๋ามาสแกน เพื่อหวังว่ากระบวนการโดยรวมจะเร็วขึ้น (อีกสักหน่อย)

ล่าสุด รัฐสภาของสหรัฐก็ทนไม่ไหวเช่นกัน อนุมัติงบประมาณพิเศษให้ TSA เพิ่มอีก 34 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้จ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มและเพิ่มเงินค่าล่วงเวลาให้เจ้าหน้าที่ ทาง TSA ประกาศว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มอีก 768 คน (250 คนไปช่วยที่ O’Hare) อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ TSA ก็ยอมรับว่าเงินจำนวนนี้ไม่มาก และคงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้อยู่ดี

TSA พยายามแก้ปัญหานี้ด้วย “คิวพิเศษ” ที่เรียกว่า TSA PreCheck ที่ต้องให้ผู้โดยสารลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบประวัติล่วงหน้า เพื่อแลกกับสิทธิในการใช้คิวที่ตรวจความปลอดภัยเร็วขึ้น (เช่น ไม่ต้องถอดรองเท้า ถอดเสื้อนอก และหยิบโน้ตบุ๊กออกจากกระเป๋า) อย่างไรก็ตาม ยังมีสายการบินเพียงบางรายเท่านั้นที่ประกาศรองรับผู้โดยสารจากระบบ PreCheck

tsa precheck

ข้อมูลจาก Travel + Leisure, The Points Guy