บินไปสหรัฐฯ เผื่อเวลา Transit ครื่องในประเทศนานเท่าไหร่ดี?

บินไปสหรัฐอเมริกา เผื่อเวลาตรวจคนเข้าเมืองนานเท่าไหร่ดี

นอกจากการขอวีซ่าสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างเข้มงวดแล้ว การตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. เพื่อเข้าประเทศสหรัฐ ก็ใช้เวลารอคิวนานพอสมควร (เรียกว่านานถึงนานมากจะดีกว่า บางครั้งลงเครื่องมาแล้วอาจต้องยืนรอในแถวถึง 3 ชั่วโมง โดยไม่มีทั้งน้ำดื่มและไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้)

ดังนั้น คนที่บินจากไทยไปสหรัฐอเมริกาแล้วต้องต่อเครื่องในประเทศ ควรเผื่อเวลาในการตรวจคนเข้าเมืองสำหรับสนามบินแห่งแรกที่เดินทางไปถึง มิเช่นนั้นอาจมีสิทธิตกเครื่องได้

คิวรอตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกา – ภาพจาก www.cbp.gov

เผื่อเวลาสำหรับตรวจคนเข้าเมืองเท่าไหร่ จึงจะไม่ตกเที่ยวบินในประเทศ?

เพื่อให้เห็นภาพ ทีมงาน 2baht ขอยกตัวอย่างการเดินทางจาก สนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) ไป สนามบินลาสเวกัส (LAS) ตามข้อมูลเที่ยวบินข้างล่างกันค่ะ

ตัวอย่างข้อมูลเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิ ไปยังลาสเวกัส

จะสังเกตว่าเที่ยวบินนี้จะแวะสนามบินนานาชาติแห่งแรกที่ Transit ในสหรัฐอเมริกา คือ สนามบินนานาชาติลอสแองเจลิส (LAX)  โดยกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจะต้องทำก่อนที่จะต่อเครื่องบินในสหรัฐเพื่อไปยังสนามบินปลายทางที่ลาสเวกัส (LAS)

จากข้อมูลการ Transit ที่สนามบินลอสแองเจลิส หรือ กรอบสีแดงจะเห็นว่าเรามีเวลา 2 ชั่วโมง 10 นาที (10.25 – 12.35 น.) เพื่อใช้ในการตรวจคนเข้าเมือง และเปลี่ยนเที่ยวบินโดยย้ายไปยังเทอร์มินัลในประเทศด้วย จะพอหรือไม่?

คำถามนี้ไม่ใช่มีแต่เราที่สงสัย แต่เป็นเรื่องใหญ่ของสนามบินในสหรัฐอเมริกามายาวนาน ข้อดีคือมีข้อมูลสถิติย้อนหลังของสนามบินนานาชาติในสหรัฐว่าต้องรอคิวนานแค่ไหน ให้ไปกดดูกันได้จากเว็บไซต์ CBP Airport Wait Times เพื่อให้เราประเมินสถานการณ์และวางแผนการเดินทางได้ถูก

2Baht.com ขอแนะนำขั้นตอนการตรวจสอบระยะเวลารอแบบ step-by-step ดังนี้

1. รู้จักกับเว็บไซต์ CBP Airport Wait Times

ก่อนอื่นขออธิบายว่า CBP Airport Wait Times เป็นเว็บที่จัดทำโดยหน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา สรุปข้อมูลเวลาที่ใช้รอคิวตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินนานาชาติทั่วสหรัฐ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบกันได้ โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกแต่อย่างใด

วิธีการใช้งาน

1. เลือกสนามบิน/เทอร์มินัล ที่เราต้องผ่านด่าน ตม. ในตัวอย่างนี้คือ LAX / Tom Bradley International Terminal

2. จากนั้นเลือกช่วงวันที่ (Date Range) แนะนำว่าให้เป็นวันเดียวกันกับวันเดินทาง เช่น เดินทางไปถึงสนามบิน LAX วันจันทร์ ก็ควรเลือกข้อมูลที่เป็นวันจันทร์เหมือนกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วตารางบินของสายการบินมักจะวนรอบเหมือนเดิมในทุกสัปดาห์

3. กดปุ่ม “Create Report” เพื่อแสดงข้อมูลสรุปเวลาที่ใช้ในการรอคิวตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะแสดงข้อมูลย้อนหลังแบบรายชั่วโมงไว้ให้

เมื่อระบบแสดงรายงานย้อนหลัง ให้ดูช่วงเวลาที่เที่ยวบินไปถึงสนามบินนั้น ในตัวอย่างนี้คือ 10.25 น. ก็ดูข้อมูลในช่วงเวลาดังกล่าว (10.00 – 11.00 น.) จะเห็นได้ว่าใช้เวลารอมากสุดคือ 106 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมง สำหรับรายละเอียดช่องอื่นๆ อ่านได้จากคำอธิบายด้านล่างค่ะ

คำอธิบาย Airport Wait Times Report

  • Airport : สนามบินที่ต้องการแสดงข้อมูลการรอตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ
  • Terminal : เทอร์มินัลที่ต้องการแสดงข้อมูลการรอตรวจคนเข้าเมือง
  • Date : วันที่ที่ต้องการแสดงข้อมูลการรอตรวจคนเข้าเมือง
  • Hour : ช่วงเวลาการรอตรวจคนเข้าเมือง ณ วันนั้นๆ
  • Wait Times : สรุปค่าเฉลี่ยและค่ามากที่สุดที่ใช้ในการรอตรวจคนเข้าเมือง ในตัวอย่างนี้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 38 นาที, รอนานที่สุดคือ 106 นาที หรือ เกือบ 2 ชั่วโมง
  • Number of Passengers Time Interval : สรุปจำนวนผู้โดยสารที่รอตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละช่วง เช่น รอคิวเพียง 0-15 นาที มี 753 คน, รอคิว 16-30 นาทีมี 348 คน … รอคิว 91-120 นาที มี 220 คน
  • Exclude : จำนวนผู้โดยสารที่ไม่ได้ถูกนับในรายงานนี้
  • Total : จำนวนผู้โดยสารที่มาถึงในชั่วโมงดังกล่าวทั้งหมด
  • Flight : จำนวนเที่ยวบินที่มาถึงในชั่วโมงดังกล่าวทั้งหมด
  • Booths : จำนวนเคาเตอร์ตรวจคนเข้าเมืองที่เปิดเพื่อรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงดังกล่าว

หมายเหตุ เพื่อความชัวร์ แนะนำว่าให้ดูค่า Max Wait Times ย้อนหลังหลายๆ สัปดาห์ประกอบ จะได้แม่นยำมากขึ้นค่ะ

2. เผื่อเวลาสำหรับเที่ยวบินในประเทศสหรัฐฯ

หลังจากที่ได้ค่าการรอคิวในข้อ 1 แล้ว ยังมีด่านต่อไปคือ จากประสบการณ์ของเราพบว่า หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ผู้โดยสารจะต้องไปรับกระเป๋าที่สายพานเพื่อผ่านด่านศุลกากร จากนั้นย้ายไปเทอร์มินัลในประเทศ แล้วต่อคิวเพื่อเข้าเกตอีกครั้งค่ะ (ควรเผื่อเวลาอย่างน้อย 1.5 ชั่วโมง – บางครั้งอาจต้องรอนาน 2-3 ชั่วโมง)

จากคำถามข้างต้น ที่เราสงสัยกันว่า 2 ชั่วโมง 10 นาที สำหรับการ Transit ครั้งนี้พอหรือไม่ คงตอบได้ว่ามีโอกาสตกเครื่องสูง หาก ตม. ล่าช้า สำหรับเคสนี้ ควรเผื่อไว้อย่างต่ำ 3.5 ชั่วโมง (ตรวจคนเข้าเมือง 2 ชั่วโมง + เผื่อเวลารับกระเป๋า, เดินไปเทอร์มินัลในประเทศ และรอคิวเข้าเกต อย่างน้อย 1.5 ชั่วโมง) จะเสี่ยงตกเครื่องน้อยลง

สิ่งที่ควรสอบถามกับสายการบินที่จะใช้บริการ

  • เราจะต้องทำการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐที่สนามบินนานาชาติแห่งใด
  • หลังจากตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เราต้องรับกระเป๋าที่สายพาน เพื่อตรวจศุลกากรด้วยหรือไม่
  • กรณีที่ต้องบินในสหรัฐอีกต่อหนึ่ง ต้องเปลี่ยนไปเทอร์มินัลไหน (ควรเผื่อเวลาสักเท่าใด เพื่อนำไปบวกกับ Airport Wait Times ข้างต้น)
  • กรณีที่ล่าช้าด้วยเหตุสุดวิสัยจนตกเครื่องให้ติดต่อเคาเตอร์ของสายการบินไหน ตั้งอยู่ที่ใดของสนามบินนั้นๆ เบอร์โทรอะไร

สิ่งที่ควรเตรียมตัวในการตรวจคนเข้าเมือง และ Transit

  • นำเอกสารประกอบการยื่นวีซ่า แผนการเดินทาง ใบจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบินขากลับ ไปเผื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด้วย
  • เนื่องจากรอคิวค่อนข้างนาน ควรเตรียมน้ำดื่ม (เราหยิบขวดเปล่าบนเครื่องบินมาเติมบริเวณหน้าห้องน้ำสนามบิน) และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ก่อนเข้าคิวตรวจคนเข้าเมือง
  • เข้าเว็บไซต์ของสนามบิน และหาแผนผังเทอร์มินัลขาเข้า-ขาออก ให้เรียบร้อย หากสะดวกพิมพ์ติดกระเป๋าไว้ก็ดีค่ะ เพื่อความคล่องตัวในการย้ายเทอร์มินัล

ด้วยเทคนิคและข้อมูลเหล่านี้ หวังว่าผู้อ่าน 2Baht ที่เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและต้องต่อเครื่อง จะสามารถวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม เผื่อเวลาไว้มากพอจนไม่ตกเครื่องนะคะ