ข้อมูลเรื่องการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก เน้น data ไม่เน้นคุย และต้องการซื้อซิมเติมเงิน (prepaid) แบบไม่ติดสัญญา ใช้งานระยะสั้นเท่านั้น
ก่อนจะเข้าเรื่องว่าควรซื้อซิมการ์ดยี่ห้อไหนดี เราต้องรู้จักข้อมูลของโอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกันก่อน
โอเปอเรเตอร์ในสหรัฐอเมริกา มีกี่ราย?
โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐมีเครือข่าย 4G กันหมดแล้ว (บางพื้นที่อาจไม่รองรับ ต้องเช็คจากแผนที่บนเว็บไซต์ของโอเปอเรเตอร์ด้วย แต่ในเมืองใหญ่ก็น่าจะใช้ได้หมด)
อเมริกามีโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ 4 เจ้า และโอเปอเรเตอร์รายย่อยที่เป็น MVNO หรือเช่าใช้เครือข่ายของเจ้าใหญ่แล้วมาทำตลาดเองอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าเอาเฉพาะรายใหญ่ เรียงตามจำนวนลูกค้าได้ดังนี้
- Verizon
- AT&T
- T-Mobile (อยู่ในเครือ Deutsche Telekom ของเยอรมนี)
- Sprint (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ Softbank ของญี่ปุ่น)
ในบรรดาโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ราย มีอยู่ 2 รายคือ Verizon และ Sprint ที่ใช้ระบบ CDMA ซึ่งแตกต่างจากระบบ GSM แบบที่ใช้ในบ้านเรา ดังนั้นตัวเลือกของเราจึงเหลือแค่ AT&T กับ T-Mobile เท่านั้น
บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลของทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมด 4 แบบ เริ่มจากระบบพรีเพดของ AT&T, T-Mobile ตามด้วยทางเลือกพิเศษ T-Mobile Walmart และโอเปอเรเตอร์รายย่อย MVNO ส่วนการจะฟันธงว่าทางเลือกไหนดีที่สุดคงยาก ขึ้นกับความเหมาะสมของตัวผู้ใช้งานเองด้วย (เน้นของถูก/เน้นเครือข่ายดี/เน้นซื้อง่าย มีคำตอบแตกต่างกัน) ขอให้อ่านให้จบทั้งบทความก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกตามที่ท่านคิดว่าเหมาะกับตัวเองมากที่สุด
ทางเลือก 1: AT&T
AT&T เป็นโอเปอเรเตอร์อันดับสองของอเมริกา ที่มียอดผู้ใช้งานไล่ตาม Verizon มาติดๆ ในแง่ความครอบคลุมของโครงข่ายย่อมดีกว่า T-Mobile แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการที่ AT&T ค่อนข้างหยิ่ง ไม่ค่อยง้อลูกค้าเท่าไรนัก
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อซิมแบบพรีเพดของ AT&T จะใช้ชื่อว่า GoPhone ซึ่งตรงนี้ต้องระวังนิดนึง เพราะคำว่า GoPhone หมายความได้ 2 อย่าง ทั้งการซื้อมือถือแบบไม่ติดสัญญากับ AT&T หรือการซื้อแพ็กเกจแบบเติมเงิน เวลาไปซื้อต้องบอกดีๆ ว่าเราต้องการอะไรกันแน่
ซิมการ์ด (SIM Card)
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเครื่องมือถืออยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องการคือซิมการ์ด ซึ่งก็มีซิมที่เรียกว่า AT&T SIM for GoPhone (Phone) devices ขายในราคา 4.99 ดอลลาร์ (เฉพาะซิมเปล่า) ซิมของมือถือกับแท็บเล็ตจะแยกชุดกัน ตอนซื้อต้องชัดเจนว่าจะซื้อไปใช้กับมือถือหรือแท็บเล็ต (พวกนี้จะมีวิธีตรวจสอบว่าเราใช้ผิดประเภทหรือไม่ ถ้าใช้ผิดอาจใช้งานไม่ได้ ตรงนี้เป็นความเยอะของ AT&T เอง ซื้อให้ถูกประเภทตั้งแต่แรกจะดีกว่า) ในชุดซิมจะให้ตัวแปลงขนาดมาด้วย ใช้ได้ทั้งซิมขนาดปกติ, micro SIM, nano SIM
ซิมการ์ดของ AT&T มักมีขายเฉพาะในร้าน AT&T เท่านั้น (ถ้าใครไปเที่ยวแบบมีคนรู้จักอยู่ที่โน่น อาจสั่งซื้อออนไลน์แล้วให้ไปส่งที่บ้านรอได้ แต่ถ้าเป็นทัวริสต์ทั่วไปก็คงต้องซื้อตามร้านเท่านั้น) พิกัดร้านหาได้จาก Store Locator
การซื้อซิมของ AT&T มีข้อควรระวังตรงที่ร้านของ AT&T เองจะไม่ชาร์จค่าซิมเพิ่ม แต่ถ้าเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายอาจโดนชาร์จเพิ่มได้ ตรงนี้ผู้เขียนเคยโดนมาแล้วกับค่าซิม $25 ที่นิวยอร์ก ดังนั้นถ้ามีโอกาสต้องเช็คกับผู้ขาย และหาข้อมูลร้าน AT&T สาขาอื่นๆ ไว้เป็นทางเลือกด้วย
การเปิดใช้งานซิม สามารถให้เจ้าหน้าที่ที่ร้านเปิดให้เลย หรือไม่ก็โทรเข้าเบอร์อัตโนมัติ 877 426 0525 แล้วกดโค้ดตาม (อาจฟังยากนิดนึง) หรือถ้ามี Wi-Fi เข้าไปเปิดใช้ผ่านเว็บ Activation อาจสะดวกกว่า
บัตรเติมเงิน (Refill Card)
เมื่อได้ซิมการ์ดแล้ว ขั้นถัดไปคือการซื้อบัตรเติมเงิน อันนี้จะง่ายขึ้นหน่อยเพราะสามารถซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ต (พวก Walmart, Target มีหมด) หรือร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ร้านยา CVS ก็ได้ บัตรเติมเงินเรียกว่า GoPhone Refill Card มีให้เลือกหลายราคา เช่น $20, $25, $30, $50, $60 ส่วนจะซื้อเท่าไรก็ขึ้นกับแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตของเรา
ส่วนของบัตรเติมเงิน ถ้าเราซื้อพร้อมซิมที่ร้านของ AT&T ก็สามารถให้ทางร้านเติมเงินและสมัครแพ็กเกจให้เลย จะสะดวกที่สุด แต่ถ้าไม่ได้ซื้อผ่านร้าน เราสามารถเติมเงินได้ทั้งทางโทรศัพท์และออนไลน์ (ซึ่งเราก็แนะนำว่าถ้ามี Wi-Fi ฟรีให้ใช้งาน เติมเงินออนไลน์ง่ายกว่ามาก)
แพ็กเกจเน็ต (Plans)
ตรงนี้จะเริ่มยากนิดนึง เพราะ AT&T จะคิดแพ็กเกจค่าใช้งานแตกต่างกันตามอุปกรณ์ที่เราใช้ และอย่างที่เขียนไปแล้วคือเราไม่สามารถนำซิมแท็บเล็ตมาใช้กับมือถือได้
- มือถือ มีเฉพาะแพ็กเกจโทร+เน็ตเท่านั้น ไม่มีแพ็กเกจเน็ตอย่างเดียว แพงหน่อยแต่ต้องยอม
- แท็บเล็ต มีแพ็กเกจเน็ตอย่างเดียวให้เลือก
กรณีที่เป็นมือถือ ข้อมูลล่าสุด (กุมภาพันธ์ 2016) มีแพ็กเกจให้เลือก 2 แบบ (อ้างอิง) คือ
- 45 ดอลลาร์ต่อเดือน โทร-ส่งข้อความไม่จำกัด ให้เน็ต 2GB
- 60 ดอลลาร์ต่อเดือน โทร-ส่งข้อความไม่จำกัด ให้เน็ต 5GB
กรณีที่เป็นแท็บเล็ต ข้อมูลล่าสุด (กุมภาพันธ์ 2016) มีแพ็กเกจให้เลือก 3 แบบ (อ้างอิง) คือ
- 25 ดอลลาร์ต่อเดือน ให้เน็ต 2GB
- 50 ดอลลาร์ต่อเดือน ให้เน็ต 5GB
- 75 ดอลลาร์ต่อเดือน ให้เน็ต 8GB
ตรงนี้จะเห็นว่าแพ็กเกจเน็ตสำหรับแท็บเล็ต ถูกกว่าแพ็กเกจมือถืออยู่พอสมควร โดยเฉพาะแพ็กเกจแบบ 2GB ซึ่งเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่อยู่ในสหรัฐเป็นระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นถ้าใครอยากประหยัดหน่อย และมีเงื่อนไขว่าใช้เน็ตอย่างเดียวไม่ต้องโทรเลย การหาแท็บเล็ตที่ใส่ซิมได้ติดไปด้วยก็ช่วยให้ประหยัดได้มากกว่าครับ
หมายเหตุ: แพ็กเกจเน็ตมักเปลี่ยนแปลงทุกปี โดยราคาจะใกล้เคียงกับของเดิม แต่อาจให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นตามการเวลา ดังนั้นควรเช็คข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์อีกรอบ
ซิมของ AT&T ไม่อนุญาตให้ tethering หรือกระจายสัญญาณเน็ตแบบ hotspot ให้เครื่องอื่นใช้ด้วย ถ้าอยากใช้งานต้องจ่ายเงินเพิ่ม
ทางเลือก 2: T-Mobile
อัพเดตข้อมูล: เดือนมิถุนายน 2559 T-Mobile ออกซิมแบบใหม่ชื่อ Tourist SIM จับตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศโดยเฉพาะ ราคาถูกเพียง 30 ดอลลาร์ หาซื้อได้ที่ร้าน T-Mobile Store ทุกสาขา
T-Mobile เป็นผู้เล่นอันดับสามของตลาดสหรัฐ แต่ส่วนแบ่งตลาดเป็นรอง 2 รายใหญ่พอสมควร ดังนั้นจึงใจป้ำกว่า เอื้อต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้นมากกว่า แถมอนุญาตให้กระจายสัญญาณเน็ต (tethering/hotspot) ด้วย ส่วนข้อเสียก็แน่นอนว่าพื้นที่ให้บริการอาจน้อยกว่า AT&T โดยเฉพาะเมืองเล็กๆ หรือเขตนอกเมือง
แพ็กเกจพรีเพดของ T-Mobile ใช้ชื่อว่า Pay as you go
ซิมการ์ด (SIM Card)
ซิมการ์ดแบบพรีเพดของ T-Mobile เรียกว่า SIM Starter Kit ขายราคา 15 ดอลลาร์ (อ้างอิง) รองรับซิมทั้ง 3 ขนาดคือ ขนาดปกติ, micro SIM, nano SIM สามารถซื้อจากร้าน T-Mobile ได้โดยตรง
รูปแบบของการซื้อซิม T-Mobile จะคล้ายกับ AT&T คือซิมต้องซื้อที่ร้านเท่านั้น แต่บัตรเติมเงินซื้อที่ไหนก็ได้ (ถ้ามีที่อยู่ในสหรัฐ และมีคนกดสั่งให้ได้ การซื้อผ่านหน้าเว็บจะเหลือแค่ 0.99 ดอลลาร์เท่านั้น)
การซื้อซิมต้องเปิดใช้ activate ผ่านโทรศัพท์ 844-730-5912 หรือผ่านหน้าเว็บ Prepaid Activation ก็ได้ ซึ่งเราแนะนำว่าถ้ามี Wi-Fi ฟรี ทำผ่านหน้าเว็บง่ายกว่า
บัตรเติมเงิน (Refill Card)
บัตรเติมเงินของ T-Mobile สามารถซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ราคามีตั้งแต่ $10, $30, $40, $50, $100 (จะเห็นว่าบัตรขั้นต่ำถูกกว่า AT&T) วิธีการเติมเงินสามารถกดเติมได้จากหน้าเว็บ Redeem a Refill Card หรือโทรไปที่เบอร์ *233 ก็ได้
แพ็กเกจเน็ต (Plans)
อย่างที่เขียนไปแล้วว่า T-Mobile ใจป้ำกว่า AT&T ดังนั้นเราสามารถซื้อแพ็กเกจเน็ตอย่างเดียวเพื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือได้เลย ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายแยกกรณีแท็บเล็ตกับมือถือออกจากกัน
ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2016 มีแพ็กเกจเน็ตให้เลือก 2 แบบ ดังนี้ (อ้างอิง)
- แพ็กเกจรายวัน Daily Pass วันละ 5 ดอลลาร์ ได้เน็ต 500MB ต่อวัน
- แพ็กเกจรายสัปดาห์ Weekly Pass สัปดาห์ละ 10 ดอลลาร์ ได้เน็ต 1GB
จากราคาดังกล่าว ถ้าเราอยู่มากกว่า 2 วันก็ใช้ Weekly Pass คุ้มค่ากว่ามากครับ
สำหรับคนที่อยากได้แพ็กเกจแบบมีค่าโทรด้วย ลองดูแพ็กเกจแบบ Simply Prepaid เริ่มต้นเดือนละ 40 ดอลลาร์ โทรไม่จำกัด ให้เน็ต 3GB
ทางเลือก 3: T-Mobile Walmart
สำหรับคนที่ไม่อยากยุ่งยากไปตามซื้อซิม T-Mobile แล้วเติมเงิน ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือเข้าห้าง Walmart จะมีซิมแบบพิเศษที่ T-Mobile จับมือกับ Walmart ทำตลาดอยู่ด้วย
ซิมตัวนี้ชื่อว่า T-Mobile Complete SIM Kit ราคาชุดละ 30 ดอลลาร์ ในชุดมีซิมการ์ด พร้อมแพ็กเกจเน็ตมาให้เสร็จสรรพ ให้เน็ต 5GB พร้อมค่าโทรอีก 100 นาที ใช้งานได้ 1 เดือน รวมๆ ราคาแล้วน่าจะถูกที่สุดในบรรดาแพ็กเกจ T-Mobile ทั้งหมด
วิธีการซื้ออาจพิสดารอยู่สักหน่อย เพราะจะมีขายเฉพาะในห้าง Walmart เท่านั้น และอาจไม่มีของขายในทุกสาขาด้วย แนวทางคือเราวางแผนก่อนว่าจะผ่าน Walmart สาขาใดบ้าง (หาข้อมูลสาขาได้จากเว็บ Walmart เองหรือจะหาจาก Google Maps ก็ได้) จากนั้นจดรหัสไปรษณีย์หรือ Zip Code ของห้างสาขานั้นเอาไว้ แล้วเข้าเว็บ Walmart หน้าสั่งซื้อซิมตัวนี้ กรอก Zip Code เพื่อดูว่าสาขาที่เราจะเดินทางไปมีของหรือไม่
กรณีที่สาขานั้นไม่มีของ เรายังสามารถ “สั่งซื้อล่วงหน้า” ผ่านออนไลน์ได้ จ่ายบัตรเครดิต แล้วปรินต์ใบเสร็จที่ได้ ไปรับของที่จุด Pickup ในห้าง Walmart ได้ (จุดรับของจะอยู่ด้านในห้าง ต้องเดินทะลุแคชเชียร์เข้าไปข้างใน อย่างตอนที่เราไป อยู่ติดกับห้องน้ำเลย)
เมื่อไปถึงจุดรับของแล้วก็เอาใบเสร็จให้พนักงาน ถ้าเราสั่งของล่วงหน้านานพอ ของจะมาถึงห้างสาขานั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปหยิบพัสดุมาให้เราเซ็นชื่อรับของ เป็นอันเสร็จ
ซิม T-Mobile Walmart จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของ Walmart สแกนบาร์โค้ดเพื่อเปิดใช้งานซิมด้วย มิฉะนั้นจะใช้งานไม่ได้ กรณีของเรา เจ้าหน้าที่เปิดใช้งานซิมแล้วก็ยังใช้งานไม่ได้ ต้องลองใส่ซิมแล้วกดโทรไปยังศูนย์บริการของ T-Mobile ให้ช่วยเปิดใช้งานซิมได้อยู่ดี (ยุ่งยากเหมือนกัน แลกกับของถูก)
อย่างที่บอกไปว่าซิม $30 ของ Walmart ถือเป็นทางเลือกที่ถูกที่สุดในท้องตลาด แต่ของมีขายเฉพาะในห้าง Walmart เท่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ต้องมีรถ) ดังนั้นความเหมาะสมว่าจะใช้ซิมตัวไหน คงขึ้นกับจุดที่เราไปมากกว่า ถ้าหากไม่มีรถและอยู่แต่ในเมืองใหญ่ การหาร้าน AT&T หรือ T-Mobile น่าจะง่ายกว่า
ทางเลือก 4: MVNO – Simple Mobile และ Lyca Mobile
สนามบินในสหรัฐมักไม่มีร้านขายซิมการ์ดของโอเปอเรเตอร์ ดังนั้นเราจำเป็นต้องเข้าไปหาซื้อตามร้านโอเปอเรเตอร์ในเมือง แต่ในบางกรณี สำหรับคนที่ลงเครื่องบินแล้วรีบใช้จริงๆ ในสนามบินใหญ่ๆ บางแห่งจะมีร้านขายมือถือรายย่อยที่ไม่ติดแบรนด์ และมีซิมการ์ดของ MVNO หรือผู้ให้บริการรายย่อยที่เช่าโครงข่ายจากรายใหญ่มาจัดชุดแพ็กเกจเอง
การซื้อซิมแบบ MVNO มีข้อดีตรงที่ทุกอย่างง่ายไปหมด เพราะรวมค่าเน็ตค่าแพ็กเกจมาให้ตั้งแต่แรก จ่ายเงิน เอาซิมใส่เครื่อง ก็ใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเปิด activation และเติมเงินให้ยุ่งยาก ส่วนข้อเสียคือราคาแพง มักรวมค่าโทรมาให้ด้วย และมีตัวเลือกแพ็กเกจไม่เยอะนัก (ร้านในสนามบินมักโขกสับเรา เพราะรู้ว่าลูกค้าไม่มีตัวเลือกอื่นแล้วในสนามบิน)
ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างค่าซิมของ Simple Mobile และ Lyca Mobile ที่ร้านในสนามบินซานฟรานซิสโก (SFO) เมื่อเดือนเมษายน 2015 สังเกตว่าราคาจะแพงกว่าปกติ แพ็กเกจพื้นฐาน 8 วัน ใช้เน็ต-โทรศัพท์ไม่จำกัด เริ่มต้นที่ 79 ดอลลาร์ทีเดียว (ทั้งสองยี่ห้อเป็น MVNO ของ T-Mobile)
ตัวอย่างราคาข้างต้นเป็นราคาของทางร้านนำมาขายเองเท่านั้น สำหรับราคามาตรฐานของ MVNO แต่ละราย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ MVNO เหล่านี้ เช่น Ready Mobile, Simple Mobile, Lyca Mobile แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าการซื้อซิม MVNO นอกสนามบินจะหาของได้ยากพอสมควร เพราะจุดกระจายของมีจำกัด และผู้ให้บริการส่วนใหญ่มักอยากให้เราสั่งซื้อออนไลน์มากกว่า
ในสหรัฐยังมีผู้ให้บริการ MVNO รายอื่นๆ อีกมาก สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Prepaid Data SIM Wiki
สรุป: เลือกซิมแบบไหนดี?
เมื่อรู้ข้อมูลทางเลือกการซื้อซิมทั้ง 4 แบบแล้ว แบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด?
เกณฑ์การเลือกแบบง่ายๆ สามารถแยกประเภทได้ดังนี้
- ซื้อง่าย ใช้สะดวก ไม่เกี่ยงราคา = MVNO ที่สนามบิน (ถ้ามีขาย และบอกได้ยากว่ามียี่ห้ออะไรบ้าง)
- เน้นเครือข่ายกว้างไกล ยอมจ่ายแพงได้ = AT&T
- เน้นราคาถูก เน้นเที่ยวในเมืองเป็นหลัก = T-Mobile
- เน้นราคาถูกกว่า มีรถแวะ Walmart ได้ = T-Mobile Walmart
- เน้นราคาถูกกว่า มีที่อยู่ในสหรัฐให้สั่งของไปส่งได้ = MVNO ยี่ห้อต่างๆ
ข้อมูลบางส่วนปรับปรุงจาก isriya.com