แบบฟอร์มขอวีซ่า DS-160

ขั้นตอนการขอและสัมภาษณ์วีซ่าสหรัฐอเมริกา สำหรับผู้ที่ขอเป็นครั้งแรก

อัพเดตข้อมูลล่าสุด: 4 มกราคม 2019 ตามหน้าจอยื่น VISA ของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย

วีซ่าอเมริกา (USA VISA) ถือว่าเป็นวีซ่าปราบเซียน เพราะว่ากันว่าขอยากเป็นอันดับต้นๆ แค่กรอกประวัติก็หลายหน้าแล้ว รูปถ่ายก็เคร่งครัดต้องเปิดหู-เปิดโหงวเฮ้ง (โชว์เหม่ง) จองคิวสัมภาษณ์กันนาน ไปจนถึงด่านสุดท้ายคือสัมภาษณ์วีซ่าที่ใครๆ ก็ว่าโหดเหลือเกิน

ทีมงาน 2baht.com เพิ่งมีโอกาสได้ไปขอวีซ่าสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ยอมรับเลยว่าที่ฟังๆ มาว่ายากเหลือหลายนั้นเป็นจริงแค่เพียงสักครึ่งเดียว แต่ที่เหลือถ้าเตรียมพร้อมมาดีๆ รับรองผ่านฉลุยค่ะ ไม่ยากอย่างที่ว่ากัน

ถ้าผ่านแล้วยังได้วีซ่าไปเที่ยวอเมริกากันได้เรื่อยๆ นานถึง 10 ปีด้วย และใครที่จะไปไต้หวันยังใช้ใบบุญจากวีซ่านี้เข้าเมืองได้อีกนะ

ขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้างมาดูกันเลยดีกว่า

แนะนำวีซ่าสหรัฐอเมริกา มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

การขอวีซ่าอเมริกานั้น มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ วีซ่าชั่วคราว และวีซ่าถาวร

  • วีซ่าชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) สำหรับกรณีที่เดินทางไปท่องเที่ยว ไปทำธุรกิจ ไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ผู้สื่อข่าว สื่อมวลชน เป็นต้น
  • วีซ่าถาวร (Immigrant Visa) สำหรับการย้ายถิ่นฐานถาวร เช่น คู่สมรส ญาติ บุตรบุญธรรม

กรณี 2baht.com นั้นเป็นการขอวีซ่าชั่วคราวสำหรับการเยี่ยมเยียน (Visitor Visa) หรือ วีซ่าประเภท B-1/B-2 โดยจะมี 2 วัตถุประสงค์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ รวมกันก็ได้) ดังนี้

  • B-1: Business Visa (ฺB1) สำหรับการเดินทางเพื่อติดต่อด้านธุรกิจ เข้าร่วมประชุมเชิงวิทยาศาสตร์ การศึกษา
  • B-2: Tourist Visa (B2) สำหรับการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว พักผ่อน เยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงหรือญาติ การรักษาด้านการแพทย์ และการเข้าร่วมงานการกุศล กิจกรรมเพื่อสังคมหรือบริการ

สำหรับวีซ่าชั่วคราวประเภทอื่นนอกเหนือจากนี้เราจะไม่กล่าวถึง ใครสนใจลองอ่านรายละเอียดได้ที่ US Embassy Bangkok

ขั้นตอนการสมัครขอวีซ่าสหรัฐอเมริกา

ขั้นตอนตั้งแต่สมัครจนได้วีซ่ามี 3-4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ได้แก่ การกรอกใบสมัครออนไลน์พร้อมอัพโหลดรูปถ่าย จากนั้นไปชำระเงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จองคิว-เตรียมเอกสาร เพื่อนัดสัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา

รายละเอียดของแต่ละขั้นตอนมีดังนี้ค่ะ

1. กรอกเอกสารใบสมัครขอวีซ่าชั่วคราวออนไลน์ (DS-160)

ปัจจุบัน การกรอกเอกสารวีซ่าของสหรัฐอเมริกา ต้องทำผ่านหน้าเว็บทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนนี้ใช้เวลาในการกรอกเอกสารค่อนข้างนานราว 1-2 ชั่วโมง  รายละเอียดค่อนข้างเยอะกว่าการขอวีซ่าเชงเก้นอยู่พอสมควร แล้วแต่ประเภทวีซ่าและข้อมูลส่วนตัวของแต่ละบุคคล

  • ประเภทวีซ่าที่ต่างกันก็ใช้แบบฟอร์มที่ต่างกัน สำหรับแบบฟอร์มวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยว เรียกว่าฟอร์ม DS-160 (ส่วนรายละเอียดของวีซ่าประเภทอื่นๆ อ่านได้ที่ US Travel Docs (ภาษาไทย))
  • ระหว่างการกรอกใบสมัคร อาจมีคำถามต่อเนื่องเพิ่มเติมซึ่งทำให้ใช้เวลากรอกเพิ่มขึ้นไปอีกได้

ผู้ขอวีซ่าควรใช้ความระมัดระวังในการกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง ไม่ควรรีบร้อน เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและเป็นไปตามความจริง หากกรอกไม่เสร็จก็สามารถเซฟฟอร์มไว้บนหน้าเว็บ เพื่อกลับมากรอกเพิ่มเติมในวันอื่นได้ (ควรจดหมายเลข Application ID ของเราไว้ด้วยนะคะ)

เมื่อพร้อมแล้ว เข้าไปกรอกแบบฟอร์ม Online Nonimmigrant Visa Application (DS-160) กันได้ที่เว็บไซต์ US Consular Electronic Application Center (CEAC – ระบบกงสุลออนไลน์) กันเลยค่ะ

1) หน้าแรก แนะนำให้เลือก ToolTip Language เป็น “ภาษาไทย (THAI)” นะคะ เพราะบางครั้งเราอาจจะสับสนหรืองงในคำถามภาษาอังกฤษ ก็สามารถใช้ ToolTip โดยเอาเมาส์ไปวางข้อความต่างๆ ด้านข้างเพื่อแปลเป็นภาษาไทยได้

แบบฟอร์มขอวีซ่า DS-160

2) หลังจากที่กดปุ่ม “Start An Application” แล้ว อย่าลืมจด Application ID ที่อยู่มุมบนขวากันนะคะ (หากกรอกนาน หรือต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม จะได้กลับมากรอกข้อมูลกันใหม่วันหลังได้ค่ะ)

แบบฟอร์มขอวีซ่า DS-160

3) หน้าจอถัดไปของ DS-160 จะให้กรอกรายละเอียดต่างๆ ตามหมวดหมู่ เริ่มจากข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ ข้อมูลหนังสือเดินทาง การเดินทาง ข้อมูลการทำงาน/การศึกษา ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประเมินว่ารวมๆ แล้วเราต้องใช้เวลากรอกประมาณ 75 นาทีเลยทีเดียว

อันนี้ก็ใจเย็นๆ ค่ะ ค่อยๆ กรอกกันไปเท่าที่ทำได้นะ สู้เค้านะทุกคน!!

แบบฟอร์มขอวีซ่า DS-160
ตัวอย่างการใช้ ToolTip ระหว่างการกรอกแบบฟอร์ม DS-160

4) เมื่อกรอกฟอร์ม DS-160 เสร็จหมดแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการยื่นแบบฟอร์มนั้น ต้องแนบรูปถ่ายขนาด 2×2 นิ้ว (อัพโหลดเป็นไฟล์เข้าไปได้เลย) ดังนั้นหากทราบแผนการเดินทางไปอเมริกาแล้ว ก็ควรไปถ่ายรูปไว้ก่อน (เพราะสามารถทำระหว่างกรอกเอกสารไปด้วย จะได้ไม่ต้องมารอกัน) โดยระบบวีซ่าออนไลน์นั้นจะมีเครื่องมือตรวจสอบให้อยู่แล้วว่ารูปเราผ่านคุณสมบัติหรือไม่

คำแนะนำการถ่ายรูปแนบวีซ่า

ตัวอย่างและข้อกำหนดของรูปถ่ายแนบแบบฟอร์มคำขอวีซ่า
ตัวอย่างและข้อกำหนดของรูปถ่ายแนบแบบฟอร์มคำขอวีซ่า / ภาพจาก U.S. VISAS
  • เนื่องจากรายละเอียดของรูปถ่ายวีซ่า ค่อนข้างเยอะ เช่น ความกว้างและความยาวของใบหน้าในรูปมีขนาดขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่สำหรับสมัยนี้แล้วเราสามารถตรวจสอบผ่านเครื่องมือตรวจสอบรูปถ่ายวีซ่าแบบออนไลน์กันได้ สบายๆ ค่ะ
  • สำหรับผู้หญิงไม่ควรห่วงสวย เน้นให้รูปผ่านง่ายๆ ด้วยการเปิดหน้าผากและติดกิ๊บดำ เอาผมทัดหู หรือรวบไปเลยก็ได้ ใครที่หูแนบกับหน้าก็ไม่เป็นไร ขอให้ผมไม่บังหูเป็นพอ ส่วนใครที่สวมแว่น แนะนำให้ถอดแว่นออกก่อนถ่ายรูปด้วยนะ
  • หากใครอยากถ่ายรูปด้วยตัวเองไม่ต้องสิ้นเปลืองเงิน ลองอ่านเทคนิคการถ่ายรูปขอวีซ่าด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ในราคาประหยัด

เมื่อกรอกฟอร์ม DS-160 เสร็จแล้ว แนะนำให้พิมพ์หน้าเพจยืนยัน DS-160 ที่มีรูปถ่ายและเลข Application ID ของเราไว้ด้วย เพราะจะต้องยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตอนไปสัมภาษณ์ที่สถานทูต (จะได้รับทาง e-mail ค่ะ)

2. ชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่า 160 ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อกรอกฟอร์ม DS-160 เสร็จแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจ่ายเงินค่าธรรมเนียม ก่อนจะนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์ต่อไป ถ้าเราไม่จ่ายเงินจะไม่สามารถนัดหมายได้

การจ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่าจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเรากรอกแบบฟอร์มเสร็จเท่านั้น (ไม่ว่าอย่างไรต้องอดทนกรอกฟอร์มให้จบก่อน) วิธีการจ่ายเงินมี 2 ช่องทางคือ โอนเงิน หรือจ่ายเงินสดที่เคาเตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จ่ายได้แค่ธนาคารเดียวเท่านั้นนะคะ

เราขอแนะนำให้จ่ายค่าธรรมเนียมที่ ธ.กรุงศรีฯ เพราะจะสามารถนัดวันสัมภาษณ์ได้เร็วกว่า คือ จ่ายเงินวันนี้ พรุ่งนี้เที่ยงก็สามารถนัดวันสัมภาษณ์ได้ทันที

หลังจากกรอกฟอร์ม DS-160 เสร็จ ให้เราเข้าไปที่เว็บไซต์ Apply for a U.S. Visa in Thailand

จากนั้นให้กดตรงปุ่มสีเขียว เพื่อสร้าง Login เข้าระบบด้วยอีเมล ตั้งรหัสผ่านตามปกติ

ล็อกอินเสร็จ ให้เลือกเมนูอันแรก New Application / Schedule Appointment แล้วเลือกตามหน้าจอไปเรื่อยๆ

สำหรับคนทั่วไปแล้ว จะเลือกตามนี้

  • Visa Type: Nonimmigrant
  • Post: Bangkok (หรือ Chiangmai)
  • Visa Category: All Others (สำหรับเคส B1/B2)
  • Visa Class: B2 (นักท่องเที่ยว)

จากนั้นเป็นหน้าจอ Personal Data ที่ต้องกรอกรายละเอียดของตัวเราเอง เช่น เลขพาสปอร์ต, วันหมดอายุ

จุดที่ต้องระวังคือการใส่วันที่ ต้องใส่เป็น MMDDYYYY คือใส่เลขเดือนขึ้นก่อนเลขวัน

อีกจุดสำคัญคือต้องใส่โค้ดหมายเลข DS-160 Confirmation Number จากขั้นตอนที่เรากรอกฟอร์มไปก่อนหน้านี้ด้วยค่ะ

เมื่อเราเปิดมาถึงหน้าตามภาพด้านล่าง (Schedule Appointment) จะเห็นราคาค่าวีซ่าที่ต้องจ่าย พร้อมปุ่ม Click Here For All Payment Options เพื่อดูรายละเอียดการจ่ายเงิน ตรงนี้เราจะต้องจดเลข ID ของเราไปจ่ายด้วย (จะสั่ง print หน้าเว็บไปยื่นที่ธนาคารเลยก็ได้ สะดวกดี)

ตัวอย่างหน้าจอชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า

คำแนะนำ

ธนาคารกรุงศรีฯ จะมีฟอร์มใบนำฝากเงินสำหรับการจ่าย Visa มาให้อยู่แล้ว เราแนะนำให้พิมพ์และกรอกใบนำฝากเงินให้ข้อมูลตรงกับใบแนะนำการชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าสหรัฐฯ และตรวจสอบอีกครั้งหลังจากเจ้าหน้าที่ทำรายการให้เรียบร้อย (ค่าธรรมเนียมวีซ่าแพง ควรตรวจให้ละเอียดรอบคอบ)

แบบฟอร์มการชำระค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าที่ ธ.กรุงศรีอยุธยา
แบบฟอร์มการชำระค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าที่ ธ.กรุงศรีอยุธยา

หลังจากจ่ายเงินสดที่ธ.กรุงศรีไปแล้ว เราจะได้เลข Receipt No. เพื่อยืนยันการจ่ายเงินมา

ให้เรารอถึงวันรุ่งขึ้น ตอนเวลา 12.00 น. หรือ ก่อนเที่ยงนิดหน่อย เข้าไปยังหน้า Payment อีกรอบ ระบบจะแสดง Receipt No. ให้อัตโนมัติ ยืนยันว่าเราจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว

จากนั้นรีบเข้าไปจองคิวสัมภาษณ์วีซ่ากันต่อ ซึ่งจะมีเวลาให้เลือกทีละ 15 นาที ขั้นตอนนี้ให้ไวนะคะ อย่ามัวโอ้เอ้ เพราะใครๆ ก็รอเวลาเที่ยงกันค่ะ (อารมณ์เหมือนแย่งซื้อตัวคอนเสิร์ตเลย)

Capture2

 

หมายเหตุ การจองวันนัดสัมภาษณ์ควรมั่นใจด้วยว่าเราสามารถหาเอกสารประกอบการสัมภาษณ์ได้ครบก่อนวันสัมภาษณ์ (รายละเอียดอ่านที่ข้อถัดไปเลยค่ะ)

เมื่อจองวันที่ได้แล้ว เราจะได้อีเมลยืนยันการนัดหมายมา เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ขั้นต่อไปคือเตรียมเอกสารเพื่อนัดทำ Visa

3. การเตรียมเอกสารเพื่อสัมภาษณ์วีซ่า

ในเว็บ US Travel Docs ระบุรายละเอียดเรื่องเอกสารประกอบการสัมภาษณ์วีซ่าไว้ดังนี้

ท่านควรนำเอกสารต่อไปนี้มาในวันสัมภาษณ์ ควรนำเอกสารตัวจริงมาแทนสำเนา อย่าส่งโทรสาร อีเมล หรือส่งเอกสารประกอบของท่านไปยังสถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาทางไปรษณีย์

  • หลักฐานแสดงรายได้ การชำระภาษี เอกสารครอบครองทรัพย์สินหรือธุรกิจ หรือสินทรัพย์
  • รายละเอียดการเดินทางและ/หรือคำอธิบายอื่นๆ เกี่ยวกับการเดินทางของท่าน
  • หนังสือจากผู้ว่าจ้างแสดงรายละเอียดตำแหน่ง เงินเดือน ระยะเวลาการว่าจ้าง และการอนุมัติวันหยุดหรือวัตถุประสงค์ทางธุรกิจในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
  • ประวัติอาชญากรรมหรือการดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับการถูกจับกุมหรือถูกตัดสินโทษในทุกที่ แม้ว่าท่านจะได้ชดใช้ความผิดนั้นแล้วหรือได้รับอภัยโทษในภายหลังก็ตาม

จะเห็นว่าข้อความของทางเว็บไซต์ เขียนค่อนข้างลอยๆ ไม่เจาะจงว่าต้องการเอกสารอะไรให้ชัดเจน (แบบเดียวกับวีซ่าเชงเก้น) ตรงนี้ทำให้คนขอวีซ่าต้องลำบากพอสมควร เพราะไม่รู้จะเอาเอกสารอะไรไปกันแน่

การตีความว่าควรนำเอกสารหรือหลักฐานใดไปประกอบในวันสัมภาษณ์นั้น แล้วแต่ตัวบุคคลและวิจารณญาณของผู้ที่สัมภาษณ์เราเลย ซึ่ง 2baht.com ขอแนะนำดังนี้

  • หลักฐานแสดงรายได้
    • รายการเดินบัญชีธนาคาร 3-6 เดือนล่าสุด (ควรเป็นบัญชีเดียวกับที่รับเงินเดือน หรือ รายได้หลัก) เป็นภาษาอังกฤษ
    • หนังสือรับรองบัญชี สกุลเงิน US Dollar เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถขอได้ที่ธนาคารทุกแห่ง ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ 200 บาท (รายละเอียดหรือระยะเวลาการขอ ควรสอบถามจาก Call Center ของธนาคารแต่ละแห่งอีกครั้ง)
    • สมุดบัญชีธนาคาร และเอกสารอื่นๆ เผื่อต้องแสดงเรื่องทรัพย์สิน
  • รายละเอียดการเดินทาง
    • แผนการเดินทาง ควรทำ Itinerary ตั้งแต่วันที่ออกจากประเทศไทยจนถึงวันที่เดินทางกลับ เช่น บินสายการบินอะไร, แวะ transit ที่ไหน รวมทั้งแผนการท่องเที่ยวแต่ละวันที่อยู่ในสหรัฐฯ ให้ชัดเจน ว่าวันไหน ไปที่ไหนบ้าง นอนที่โรงแรมอะไร
    • ใบจองโรงแรมทั้งหมดตลอดการเดินทาง
    • ใบจองตั๋วเครื่องบิน (ควรมีนะ แต่ถ้ายังไม่มี อย่างน้อยก็ควรมีแผนการจองตั๋วเครื่องบิน โดยพิมพ์จากหน้า Booking ของสายการบินที่จะเลือกใช้ไปก่อน)
  • หนังสือจากผู้ว่าจ้าง:
    • หนังสือรับรองการทำงาน พร้อมสลิปเงินเดือน 3-6 เดือนล่าสุด (ฉบับจริง) เป็นภาษาอังกฤษ ที่ระบุตำแหน่ง เงินเดือน วันที่เราจะลา (เอาให้มั่นใจว่ามีงานประจำที่ไทยและได้รับอนุญาตจากนายจ้าง ไม่ได้จะไปเป็นโรบินฮู้ดแน่ๆ)
    • กรณีเป็นเจ้าของกิจการเอง ควรนำใบจดทะเบียนการค้าต่างๆ ไปแสดงด้วย
  • เอกสารประกอบอื่นๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์การเดินทาง และผู้ร่วมเดินทาง เช่น
    • ใบ Invitation เพื่อเข้าร่วมประชุม หรือ หลักฐานต่างๆ สำหรับการเดินทางเพื่อเจรจาธุรกิจ
    • ใครที่เดินทางกันเป็นครอบครัว สามี ภรรยา พ่อแม่ลูก ก็ควรนำเอกสารต่างๆ ของทางราชการเพื่อประกอบการแสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ร่วมเดินทาง เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน ที่เป็นตัวจริง เอาไว้เผื่อตรวจสอบ
    • หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น พาสปอร์ตทุกเล่มทั้งปัจจุบันและของเดิม (หากใครที่มีคู่สมรสเคยได้วีซ่าอเมริกาแล้ว ก็เตรียมพาสปอร์ตเล่มที่ได้วีซ่ามาด้วย)

เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดแล้ว แนะนำให้ใส่ซองพลาสติกใส แยกเป็นหมวดหมู่ เพื่อค้นหาได้ง่าย และอย่าลืมเอกสารประกอบการสมัครอีก 3 รายการ แยกไว้อีกซองเพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่หน้าทางเข้าสถานทูต

  • CEAC Confirmation หรือ ใบยืนยันแบบฟอร์ม DS-160 ที่มีรูปถ่ายเรา (ต้องนำมาด้วย)

    ตัวอย่าง ใบคอนเฟิร์ม DS-160 / ภาพจาก US CEAC
    ตัวอย่าง ใบคอนเฟิร์ม DS-160 / ภาพจาก US CEAC
  • Appointment Confirmation หรือ ใบนัดเวลาสัมภาษณ์วีซ่าที่สถานทูต
  • หนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับปัจจุบัน ตัวจริงเท่านั้น
  • อื่นๆ ที่ควรนำมาเผื่อไว้ด้วย (เมื่อก่อนเห็นว่าขอกัน แต่ที่ไปขอมาเมื่อ ปลายเดือนกันยายน 2558 ก็ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่จะขอตรวจนะ) เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม รูปถ่าย 2×2 นิ้ว จำนวน 1 ใบ

4. การไปสัมภาษณ์วีซ่าที่สถานทูต

ผ่านกันมาหลายด่านแล้ว ตั้งแต่กรอกเอกสารยาวเหยียด จ่ายเงินหลายพัน และรอคิวนัดสัมภาษณ์วีซ่า ในที่สุดก็มาถึงวันสัมภาษณ์วีซ่าสักที ด่านสุดท้ายแล้วค่ะ

การสัมภาษณ์วีซ่าสหรัฐต้องไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพ ที่ถนนวิทยุ (หรืออีกทางหนึ่งคือสถานกงสุลที่เชียงใหม่) ซึ่งถือเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย การเข้าออกมีเงื่อนไขพอสมควร เพื่อให้สะดวกและสบายใจกันทุกฝ่าย ควรอ่านคำแนะนำเหล่านี้ก่อน

คำแนะนำก่อนการเดินทางมาสัมภาษณ์

  • ตรวจสอบเอกสารและให้เรียบร้อย ก่อนวันสัมภาษณ์อย่างน้อย 2-3 วัน หากขาดเหลืออะไรก็ยังสามารถรีบไปขอได้ทันเวลา
  • เลือกกระเป๋าใบขนาดเล็กที่สุดเท่าที่หาได้ และเอาของไปเท่าที่จำเป็นไปให้น้อยชิ้นที่สุด
  • ไม่คววรนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ รวมทั้ง CD ROM, แผ่นดิสก์, power bank ติดตัวมาด้วย อย่างมากที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ซึ่ง รปภ.จะให้ปิดเครื่องแล้วฝากไว้ที่ด้านหน้าทางเข้าเท่านั้น (กฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัยของสถานทูต) ตอนที่ไปขอ มีคนพกกุญแจรถพร้อมรีโมทไปด้วย รปภ. ก็ไม่ยอมให้เข้า ต้องฝากไว้พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ
  • พกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไปด้วย เพราะต้องใช้ฝากโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าสถานทูต
  • วางแผนการเดินทางให้ดี เนื่องจากผู้จะเข้ารับการสัมภาษณ์ควรเดินทางมาถึงสถานทูตก่อน 30 นาที เป็นอย่างน้อย สำหรับที่กรุงเทพเราขอแนะนำการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ลง BTS เพลินจิตและต่อมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่ป้ายรถเมล์ ถ.วิทยุ ข้างๆ Park Venture 20 บาท หรือใครสะดวกรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลุมพินี แล้วนั่งมอเตอร์ไซด์ก็ได้เช่นกัน
  • กรณีที่มาสถานทูตช้ากว่าเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมง จะไม่มีสิทธิได้รับการสัมภาษณ์ในวันนั้น ต้องจองนัดสัมภาษณ์ใหม่ในระบบอีกครั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใหม่แต่อย่างใด (แต่อย่ามาสายเลยจะดีกว่านะ และจำกัดจำนวนครั้งในการเลื่อนด้วยค่ะ)

กระบวนการสัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา

เมื่อไปถึงหน้าสถานทูต เราจะเจอผู้คนยืนต่อคิวกันอยู่ ให้ทำตามลำดับดังนี้ (ไม่มีรูปประกอบนะคะ ขอบรรยายอย่างเดียว)

1) เดินเข้าไปต่อคิวช่องซ้ายสุดที่อยู่ติดกำแพง ไปหา รปภ. เพื่อตรวจกระเป๋าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พกมา จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเอกสารการนัดสัมภาษณ์ในเบื้องต้น โดยจะดูเอกสาร DS-160 เทียบกับรายชื่อของเราในใบนัดหมายของเจ้าหน้าที่ (ส่วนญาติๆ ที่มารอให้กำลังใจ รอได้ข้างนอกเท่านั้นนะ)

2) เมื่อผ่านตรงนี้ไป จะเข้าไปในอาคาร รปภ. เพื่อนำมือถือไปฝาก เอาบัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่แลกก็ได้ เจ้าหน้าที่ฝากของจะนำบัตรฝากที่เป็นสายคล้องมาให้เรา ซึ่งก็ดีนะ กันลืมและกันหายแน่ๆ ผ่านด่านตรวจวัตถุโลหะ (เดินเข้าทีละคน) เสร็จเรียบร้อยแล้วเปิดประตูใหญ่ๆ หนักๆ ออกไปยังด้านหลังของอาคาร รปภ. ซึ่งจะเป็นทางเดินไปยังอาคารขอวีซ่าที่อยู่ติดกัน

3) สำหรับการขอวีซ่าชั่วคราว เดินเข้าไปจะมีเก้าอี้นั่งเป็นแถว ให้เราเข้าไปนั่งรอเจ้าหน้าที่ประกาศเรียกตามรอบเวลาที่เราจองไว้ (เคาเตอร์เป็นกล่องๆ สีขาว มีเจ้าหน้าที่ 2 ท่าน ตรงข้ามที่ทำการไปรษณีย์) ซึ่งมักเรียกห่างกันรอบละ 15 นาทีตามคิวที่จองในระบบ พยายามนั่งแถวหน้าๆ พอถึงรอบก่อนเรา ก็จับเวลาไว้ เมื่อถึงเวลาเรียกปุ๊บ จะได้รีบเดินเข้าไปยื่นเอกสารเป็นอันดับต้นๆ ของรอบ (เหมือนรอขึ้นเครื่องที่ Gate สนามบินเลย)

4) เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร ใบนัด Passport และจะหนีบตรา EMS สำหรับส่งพาสปอร์ตกลับมาให้ด้วย (ใบนี้ห้ามทำหาย ต้องหนีบกับพาสปอร์ตตลอดเวลา อย่าไปยุ่งกับมัน แต่ให้จดหมายเลข EMS เก็บไว้เองด้วย เพราะใช้สำหรับตรวจสอบ Tracking วีซ่าที่จะส่งกลับมาให้ทางไปรษณีย์ ว่าของส่งมาถึงไหนแล้ว) ค่าส่งไม่ต้องเสียเพิ่มอีกนะคะ รวมมาในค่าธรรมเนียมวีซ่าเรียบร้อยแล้ว

5) เดินขึ้นบันไดเข้าไปข้างในตึก เดินไปต่อคิวยังช่อง 11-15 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คนไทย เพื่อตรวจเอกสารอย่างละเอียดอีกรอบ สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะทำคือ

  • ตรวจสอบรูปถ่ายเราจากระบบอีกครั้ง บางทีระบบผ่าน แต่เจ้าหน้าที่ดูแล้วว่าไม่ผ่านก็อาจจะต้องไปถ่ายใหม่ (มีตู้ถ่ายภาพอัตโนมัติบริการ ราคา 120 บาท)
  • สอบถามเบื้องต้นว่าเราจะไปทำอะไร เคยเปลี่ยนชื่อ-สกุลหรือไม่
  • จากนั้นจะให้ scan ลายนิ้วมือ เริ่มจาก พิมพ์ลายนิ้วมือ 4 นิ้วซ้าย – 4 นิ้วขวา – หัวแม่มือ 2 ข้างพร้อมกัน

ขั้นตอนนี้คือการยื่นเอกสารขอวีซ่าเท่านั้น ส่วนจะผ่านหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนสุดท้ายคือการสัมภาษณ์ค่ะ

6) ต่อคิวสัมภาษณ์ที่ช่อง 6-9 ซึ่งกระบวนการนี้จะรอนานมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรอบที่เราจองเป็นสำคัญ ถ้าได้รอบเช้าหน่อยก็รอไม่นาน แต่สำหรับเราจองรอบ 8.30 น. กว่าจะได้สัมภาษณ์จริงก็ 9.45 น. โดยผู้สัมภาษณ์เป็นเจ้าหน้าที่ต่างชาติ (ที่พูดภาษาไทยพอได้) ทุกท่าน (ตรงนี้ไม่มีแยกคิวสัมภาษณ์ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ เหมือนที่เคยได้ยินในอดีตนะ)

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา เค้าถามคำถามอะไรกันบ้าง ซึ่งจากการยืนต่อคิวนานๆ ก็เลยแอบสังเกตมาดังนี้

  • อยากสัมภาษณ์จบเร็วๆ เลือกคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นภาษาอังกฤษจะไวกว่า เท่าที่ดูเค้าจะถามไม่เยอะเท่าไหร่
  • ถ้าเดินทางเป็นครอบครัว หรือเพื่อนฝูง เข้าไปสัมภาษณ์พร้อมกันได้ คำถามแรกๆ จะถามก่อนเลยว่ามีความสัมพันธ์เป็นอะไรกัน แต่งงานกันมานานกี่ปีแล้ว
  • คำถามหลักๆ ที่ถูกถามกันทุกคนคือ การขอวีซ่าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เดินทางไปที่ไหนบ้าง
  • ระหว่างสัมภาษณ์เค้าอาจจะดูประวัติใน passport เราซึ่งถ้าเดินทางเยอะ ก็คิดว่าทำได้ง่ายขึ้นด้วยนะ และอาจมีถามว่าเคยเดินทางไปที่ประเทศไหนบ้าง
  • หากเดินทางไปเพื่อเรียนภาษา เจ้าหน้าที่จะค่อนข้างเข้มงวดและซักถามเป็นภาษาอังกฤษ
  • หากเคยได้วีซ่ามาก่อนหน้านี้แล้ว มักถามว่าการขอครั้งก่อนขอนานมาแล้วกี่ปี และขอเพื่อจุดประสงค์อะไร และถ้าเป็นไปได้ให้พก Passport ที่มีวีซ่าเดิมมาแสดงด้วย
  • รวมตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์วีซ่าจาก Pantip

หลักที่ใช้ในการสัมภาษณ์วีซ่าของเรา มี 3 ข้อ (ใช้เวลาสัมภาษณ์ราว 3-5 นาที)

  • เลือกทักทายผู้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษก่อนเลย – ออกตัวก่อนว่าภาษาอังกฤษเราก็ไม่ได้เป๊ะนะ พอสื่อสารได้ (อันนี้คิดเองว่าถ้าเราตอบไม่ได้จริงๆ เดี๋ยวเค้าก็พูดไทยกับเราเองแหละค่ะ)
  • พยายามตอบคำถามให้เคลียร์ในตัวเอง ตอบยาวนิดไม่เป็นไร จะได้ลดการถามคำ-ตอบคำ เช่น คำถามแรกที่โดนถามแน่ๆ ว่าไปทำไม ก็เตรียมเล่าไปเลยว่า จุดประสงค์เพื่อไปเที่ยว จะไปที่ไหนบ้าง ใช้เวลากี่วัน
  • กรณีที่ผู้สัมภาษณ์ เหมือนจะมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยที่อยากได้เอกสารประกอบ ก็ตอบพร้อมกับถามเจ้าหน้าที่กลับว่าต้องการดู support document ด้วยหรือเปล่า จะได้รวดเร็วขึ้นค่ะ

รู้ผลสัมภาษณ์วีซ่ากันทันที

  • ผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์วีซ่า เจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่าอีก 2-3 วันจะส่งวีซ่ากลับไปให้ทางไปรษณีย์นะ ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปซื้อซองหรือทำอะไรเพิ่มเติม เดี๋ยวทางสถานทูตเค้าจะจัดการใส่ซองและส่งไปรษณีย์มาให้ในวันถัดไป (เคสเราจริงๆ ได้รับวีซ่ามาถึงที่บ้านหลังจากสัมภาษณ์เพียง 2 วันเท่านั้น)
  • ผู้ที่ไม่ผ่านก็จะบอกกันตรงนั้นเลย (รู้สึกจะคืนพาสปอร์ตให้ทันทีด้วย ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งก็เห็นอยู่รายเดียวนะ ผู้สมัครวีซ่าบอกว่าจะไปเรียนภาษา แต่พอคุยภาษาอังกฤษอะไรไป ตอบไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งแสดงความเสียใจ พร้อมบอกเหตุผลที่ไม่ผ่านเกณฑ์การสัมภาษณ์
  • นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบแบบออนไลน์กันได้ที่ Visa Status Check กันได้อีกทางหนึ่ง

ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยลองอ่านที่ FAQ ดูก่อน และกรณีที่มีคำถามอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุในบทความนี้ โปรดติดต่อศูนย์บริการวีซ่าสหรัฐฯ 2 ช่องทาง

2baht.com ก็ขอให้ทุกท่านโชคดีในการสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกากันนะคะ และหากใครที่จะต่อวีซ่า ลองอ่านดูบทความวิธีการขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาทางไปรษณีย์ สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสัมภาษณ์กันได้ค่ะ