รู้จักเครื่องเช็คอินด้วยตัวเอง X-Press Check-in ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

คนที่เดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงนี้ คงเห็นป้ายสีเหลืองของระบบ X-Press Check-In Kiosk แปะอยู่ทั่วสนามบิน วันนี้ 2Baht.com จะมาแนะนำให้รู้จักเจ้าเครื่องนี้กัน

เครื่องเช็คอินอัตโนมัติ สนามบินสุวรรณภูมิ

ตู้ X-Press Check-In Kiosk ไม่ได้มีอะไรใหม่ มันคือเครื่องเช็คอินด้วยตัวเอง (self checkin) ที่สนามบินทั่วโลกนำมาใช้กันนานพอสมควรแล้ว และสายการบินบางแห่งของบ้านเรา (โดยเฉพาะพวกโลว์คอสต์) ก็นำมาใช้แล้วเช่นกัน

เป้าหมายของเครื่อง X-Press Check-in เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเช็คอินที่นั่งด้วยตัวเองโดยไม่ต้องต่อคิวยาวๆ เพื่อรอพนักงานเจ้าหน้าที่ของสายการบินอีกต่อไป อีกทั้งช่วยลดโหลดของพนักงานให้ทำงานสะดวกขึ้นด้วย (อย่าลืมว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากทุกปี จนเกินขีดจำกัดแล้ว)

หน้าตาของเครื่อง X-Press Checkin ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4
หน้าตาของเครื่อง X-Press Checkin ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4

ขั้นตอนการเช็คอินด้วยเครื่องก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เดินมาที่เครื่อง (ตั้งอยู่หลายจุดในบริเวณชั้น 4 ผู้โดยสารขาออก) กดเลือกสายการบินที่ต้องการจากหน้าจอ ยืนยันตัวตน

เสร็จแล้วเราจะได้บัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) และแท็กกระเป๋าสำหรับโหลดใต้ท้องเครื่องมาติดกับกระเป๋าเดินทาง จากนั้นก็นำกระเป๋าไปเข้าคิว Bag Drop ของสายการบินที่เดินทาง (ซึ่งคิว Bag Drop จะสั้นกว่าคิวปกติมาก) เท่านั้นก็เรียบร้อยแล้ว

สายการบินที่รองรับ Xpress Check-in
รายการสายการบินที่รองรับการเช็คอินด้วยเครื่อง

รายชื่อสายการบินที่สามารถใช้งานเครื่อง X-Press Check-in ในตอนนี้ (เมษายน 2559) ได้แก่

  • KLM
  • Air France
  • Cathay Pacific
  • Lufthansa
  • Austrian
  • Delta Air Lines
  • Bangkok Airways
  • EVA Air
  • Aeroflot
  • El Al Israel Airlines
  • Turkish Airlines
  • Thai Airways (การบินไทย)

ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนของแต่ละสายการบินอาจแตกต่างกัน ตัวอย่างสายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บัตรสะสมแต้ม (Frequent Flyer Card), พาสปอร์ต หรือหมายเลขการจอง (Booking Reference)

หน้าจอการเช็คอินของสายการบิน Lufthansa
หน้าจอการเช็คอินของสายการบิน Lufthansa

หรือถ้าเป็น Bangkok Airways จะต้องใส่บัตรเครดิตที่จ่ายเงินจองตั๋ว หรือไม่ก็ใส่หมายเลขเที่ยวบิน (Flight Number) หรือหมายเลขการจอง (Booking Reference) ซึ่งตรงนี้ต้องตรวจสอบข้อมูลกับสายการบินของเราด้วย ว่าใช้อะไรบ้าง

หน้าจอของ Bangkok Airways บนเครื่อง X-Press Check-in
หน้าจอของ Bangkok Airways บนเครื่อง X-Press Check-in

นอกจากความสะดวกรวดเร็วที่ได้จากเครื่อง X-Press Check-in แล้ว ทางเจ้าของพื้นที่คือบริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) ยังจับมือกับร้านขายสินค้าปลอดภาษี King Power สร้างแรงจูงใจเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่มาเช็คอินด้วยเครื่องอีกด้วย

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคือ

  • ส่วนลดเพิ่ม 5% จากการซื้อสินค้าในร้าน King Power
  • ส่วนลด 5% สำหรับร้านอาหารในสนามบินที่เข้าร่วมโครงการ
  • บัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) มีมูลค่า 200 บาทในการซื้อสินค้าบางอย่างที่ร้าน King Power
King Power Discount from Xpress Checkin Kiosk
สิทธิประโยชน์และส่วนลดที่ได้จาก X-Press Checkin

2Baht มองว่าส่วนลดพวกนี้จัดอยู่ในกลุ่ม “ได้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร” ถ้าได้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากมันก็ถือเป็นกำไรของเราไป แต่อยากให้มองเรื่องการเช็คอินที่สะดวกรวดเร็วมากกว่า ในอนาคตเราคงเห็นการเช็คอินด้วยเครื่องแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ (ในต่างประเทศบางแห่ง เริ่มไม่ใช้คนรับเช็คอินแล้ว) ดังนั้นถ้ามีโอกาส และไม่มีเงื่อนไขพิเศษในการเช็คอิน ก็มาลองหัดใช้เครื่อง X-Press Checkin ให้คุ้นเคยกันตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่า