ทุกวันนี้โรงแรมระดับโลกมีอยู่มากมาย แต่เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าโรงแรมแบรนด์ดังแต่ละแห่ง มีใครเป็นเจ้าของบ้าง ความเกี่ยวโยงของแต่ละแบรนด์โรงแรมเป็นอย่างไร คำถามวัดฝีมือนักท่องเที่ยวระดับแฟนพันธุ์แท้ วันนี้เว็บไซต์ 2Baht มีคำตอบ
อัพเดต: สำหรับสถิติของปี 2015 ที่ใหม่กว่าบทความนี้ อ่านได้จาก 10 อันดับกลุ่มทุนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปี 2015
ธุรกิจโรงแรมถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าเป็นเรื่องของทำเลที่ชี้ขาดศักยภาพทางธุรกิจ เมื่อบางโรงแรมที่ประสบปัญหาการบริหารงานไปไม่รอด แต่กลับมีทำเลที่ตั้งหรือตัวอาคารอยู่ในจุดที่เหมาะสม ก็ไม่แปลกอะไรที่จะเห็นการซื้อกิจการจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในวงการ หรือแม้แต่เป็นกลุ่มทุนระดับโลกที่บุกเข้ามาเปิดโรงแรมในหลายๆ ประเทศ
“กลุ่มทุนโรงแรมขนาดใหญ่” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียก Hotel Chain จึงถือกำเนิดขึ้น ชื่อที่คุ้นเคยก็อย่างเช่น Hilton, Starwood, Hyatt, InterContinental ส่วนใหญ่แล้วเครือโรงแรมเหล่านี้มักเป็นกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาที่ธุรกิจการโรงแรมก้าวหน้ามาก เว็บไซต์ 2Baht จึงคัดเลือกกลุ่มบริษัทด้านโรงแรมและรีสอร์ตขนาดใหญ่ของโลก โดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรมที่คนไทยคุ้นเคยมานำเสนอกัน (รายชื่อเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อกลุ่มบริษัท)
1. AccorHotels
เริ่มจากกลุ่มโรงแรมจากฝรั่งเศส AccorHotels เติบโตมาจากเป็นเจ้าของโรงแรมราคาถูก Ibis แล้วเติบโต ค่อยๆ ไล่ซื้อโรงแรมชื่อดังอย่าง Mercure, Sofitel, Novotel, Pullman มาเสริมทัพ ตอนหลังยังซื้อแบรนด์ Hotel Formula 1 มาทำเชนโรงแรมราคาถูกมากๆ อีกด้วย
ตัวอย่างแบรนด์โรงแรมในเครือ
- Ibis
- Mercure
- Novotel
- Pullman
- Sofitel
- Sebel
- Adagio
- Thalassa
- Orbis
บ้านเรามีโรงแรมเครือ AccorHotels เป็นจำนวนมาก ไล่ทุกสาขาคงไม่มีทางหมด เช่น Novotel สยามสแควร์, Pullman รางน้ำ, Sofitel ที่มีทั้งแบบปกติและ Sofitel So (ยังไม่นับว่าในอดีต Sofitel เคยเข้าไปบริหารโรงแรมในเครือเซ็นทรัลด้วย แต่ตอนนี้เซ็นทรัลทำเองในชื่อ Centara แทน)
2. Carlson Rezidor
บริษัทข้ามชาติที่เกิดจากการรวมบริษัท Carlson ของอเมริกา กับ Rezidor ซึ่งเป็นโรงแรมของ Scandinavian Airlines ในอดีต แบรนด์ดังในเครือคือ Radisson
โรงแรมในเครือ
- Radisson, Radisson Blu, Radisson Red
- Country Inn
- Park Inn
- Park Plaza
แบรนด์ที่คุ้นกันหน่อยในบ้านเราคือ Radisson ที่มีสาขาแถวซอยนานา และ Radisson Blu ที่เพิ่งเปิดแถวๆ อโศก ก่อนหน้านี้เคยมี Radisson พระรามเก้าแต่กลายเป็น Golden Tulip ไปแทนแล้ว
3. Four Seasons
กลุ่มโรงแรมหรูจากแคนาดา เจ้าของแบรนด์ Four Seasons มีจำนวนโรงแรมทั่วโลกประมาณ 100 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของตึกและที่ดิน แต่ใช้วิธีเข้าไปช่วยออกแบบและบริหารแทน
เจ้าของปัจจุบันของ Four Seasons คือ Cascade Investment บริษัทลงทุนของบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และ Kingdom Holding บริษัทลงทุนแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย ถือหุ้นรวมกันประมาณ 90%
โรงแรม Four Seasons ในบ้านเรามีสาขาที่ถนนราชดำริ เกาะสมุย และสาขาเชียงใหม่
4. FRHI
FRHI กลุ่มโรงแรมจากแคนาดา ปัจจุบันเจ้าของคือกลุ่มทุนจากกาตาร์และซาอุ โรงแรมในเครือคือ Fairmont, Raffles, Swissôtel
โรงแรมสัญลักษณ์ของเครือนี้คือ Raffles Hotel ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่ตั้งชื่อตาม Sir Stamford Raffles ข้าหลวงอังกฤษ ผู้ก่อตั้งเกาะสิงคโปร์
ส่วนบ้านเราใช้แบรนด์ Swissotel ทำตลาดเพียงอย่างเดียว โดยมี 3 สาขาคือรัชดา (Swissotel Le Concorde) ปาร์คนายเลิศ (รีวิว บุฟเฟต์ติ่มซำ ห้องอาหาร Noble House โรงแรม Swissotel Park Nailert) และภูเก็ต
แบรนด์โรงแรมในเครือ
- Fairmont
- Raffles
- Swissotel
5. Hilton Worldwide
ก่อตั้งโดย Conrad Hilton (ปู่ทวดของไฮโซสาว Paris Hilton) แต่ตระกูล Hilton ขายหุ้นให้บริษัทลงทุน Blackstone Group หมดแล้วในปี 2007 ปัจจุบันใช้ชื่อกลุ่มบริษัทว่า Hilton Worldwide
แบรนด์ที่เน้นใช้ทำตลาดก็คือ Hilton, Conrad, DoubleTree และโรงแรมหรู Waldorf Astoria ซึ่งเป็นโรงแรมชื่อดังในนิวยอร์ก
- Conrad
- DoubleTree
- Hilton
- Waldorf Astoria
ส่วนแบรนด์อื่นๆ มีเพียบ เช่น Canopy, Curio, Garden Inn, Hampton Inn, Home2 เป็นต้น
บ้านเรามีแบรนด์หลักทั้ง 3 แบรนด์คือ Hilton (5 สาขาคือ สุขุมวิท เจริญนคร พัทยา ภูเก็ต หัวหิน), Conrad (ถนนวิทยุ ด้านหลังอาคารออลซีซัน, เกาะสมุย) และ DoubleTree by Hilton (สุขุมวิท 26)
6. Hyatt
บริษัทอเมริกันจากชิคาโก ตั้งชื่อตามเจ้าของคนแรกคือ Hyatt Robert von Dehn แต่แกนหลักจริงๆ มาจากเจ้าของคนที่สอง Jay Pritzker ที่ซื้อกิจการมาในปี 1957 (ตระกูล Pritzker ยังเป็นแกนหลักของ Hyatt อยู่ในปัจจุบัน)
แบรนด์ที่ใช้ทำตลาดจะมีคำว่า Hyatt ติดมาด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Park Hyatt สุดหรู, Grand Hyatt, Hyatt Place, Hyatt Regency เป็นต้น ที่ไม่ใช้แบรนด์ Hyatt ห้อยท้ายมีแค่แบรนด์เดียวคือ Andaz สาขาส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
สาขาในบ้านเราที่รู้จักกันดีคือ Grand Hyatt Erawan ตรงศาลพระพรหมราชประสงค์ ซึ่งซื้อต่อมาจากโรงแรมเอราวัณเดิม ส่วนโรงแรมอีกสาขาที่ชื่อดังหน่อยคือ Park Hyatt ในโตเกียวที่ใช้เป็นฉากในหนัง Lost in Translation
7. InterContinental Hotels Group
InterContinental Hotels Group (IHG) กลุ่มโรงแรมจากอังกฤษ เป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรมดังหลายอัน หลักๆ เลยคือ InterContinental ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการบิน Pan Am และ Holiday Inn โรงแรมราคาประหยัด (จึงไม่น่าแปลกใจที่ InterContinental ตรงหัวถนนราชดำริ มี Holiday Inn มาเปิดข้างๆ)
โลโก้ของกลุ่ม IHG ที่เป็นบริษัทแม่ กับตัวโรงแรม InterContinental นั้นแตกต่างกัน
แบรนด์อื่นในเครือคือ Crowne Plaza ที่แตกลูกมาจากเครือ Holiday Inn อีกที นอกจากนี้ยังมี Hotel Indigo ที่เป็นบูติกโฮเทลด้วย
- Crowne Plaza
- Holiday Inn
- Hotel Indigo
- InterContinental
สาขาโรงแรมในบ้านเราคือ InterContinental ราชดำริ, Holiday Inn (หลายสาขา) และ Crowne Plaza หัวถนนสีลม
8. Kempinski
Kempinski แบรนด์โรงแรมหรูจากเยอรมนี เก่าแก่มากตั้งมาในปี 1897 ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือประมาณ 100 แห่ง เน้นโรงแรม 5 ดาวเกือบหมด ภูมิภาคที่เน้นคือยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา จีน
ผู้ก่อตั้งคือพ่อค้าชาวยิว Berthold Kempinski แต่เคยไปเป็นบริษัทของสายการบิน Lufhansa อยู่พักหนึ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบันคือ Crown Property Bureau หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั่นเอง
ในไทยมีสาขาเดียวคือ Siam Kempinski ด้านหลังสยามพารากอนนั่นเองครับ
9. Mandarin Oriental
กลุ่มโรงแรมจากฮ่องกง เกิดจากการรวมตัวกันของโรงแรมเก่าแก่ของเอเชีย 2 แห่งคือ The Mandarin ของฮ่องกง และ The Oriental ในกรุงเทพ (ที่เรียกภาษาไทยว่า “โอเรียนเต็ล”) ตราสัญลักษณ์โดดเด่นจำง่ายเพราะเป็นรูปพัด แสดงถึงความเป็นเอเชีย
โรงแรมโอเรียนเต็ลนั้นคนไทยรู้จักดีอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมแมนดารินของฮ่องกง เปิดกิจการเมื่อปี 1967 และได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมสุดหรู บริการยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลกมานาน
แบรนด์โรงแรมทั้งหมดในชื่อ Mandarin Oriental มีประมาณ 30 สาขาทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและในสหรัฐ
10. Marriott
กลุ่ม Marriott เป็นบริษัทอเมริกัน ก่อตั้งโดย J.W. Marriott ต้นกำเนิดมาจากวอชิงตันดีซี ถือเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีโรงแรมในสังกัดมากกว่า 4,000 แห่ง เกือบทั้งหมดใช้แบรนด์ Marriott ทำตลาด (แต่มีหลายแบรนด์ย่อยที่ห้อยท้ายด้วย Marriott) แบรนด์ดังในเครืออีกอันคือ Ritz-Carlton ที่มีพื้นเพมาจากฝั่งฝรั่งเศส-อังกฤษ และโรงแรม Renaissance
โรงแรมในเครือ
- Courtyard
- Marriott
- Renaissance
- Residence Inn
- Ritz-Carlton
โรงแรมในเครือ Marriott มีสาขาหลายแห่งในไทย เช่น J.W.Marriott เพลินจิต, Bangkok Marriott สุขุมวิท, Renaissance ราชประสงค์, Courtyard Marriott ราชดำริ เป็นต้น
11. Shangri-La
กลุ่มโรงแรมจากฮ่องกง ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและจีน แบรนด์หลักคือ Shangri-La แต่ก็มีแบรนด์อื่นที่ใช้คือ Traders Hotel และ Kerry Hotel
โรงแรม Shangri-La ที่เป็นที่รู้จักกันมากแห่งหนึ่งก็คือสาขากรุงเทพตรงสะพานตากสิน จุดเด่นคือโรงแรมติดแม่น้ำ มีสองปีก ในไทยยังมีสาขาที่เชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง
12. Starwood
บริษัทอเมริกันที่เริ่มจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ค่อยๆ ไล่ซื้อโรงแรมมาเก็บสะสมไว้เรื่อยๆ แบรนด์โรงแรมที่ดังๆ คือ Westin กับ Sheraton แต่แบรนด์อื่นๆ ก็มีให้บริการในไทยเกือบหมด
โรงแรมในเครือ เช่น
- Aloft
- Four Points
- Le Méridien
- St. Regis
- Sheraton
- Westin
- W Hotels
เมืองไทยมีเกือบครบทุกแบรนด์ เช่น Westin สุขุมวิท, St.Regis ราชดำริ, W Hotel สาธร
13. Wyndham
เชนโรงแรมรายใหญ่อีกแห่งของโลก ฐานสำคัญอยู่ในอเมริกา มีโรงแรมหลายแบรนด์ เช่น Wyndham, Tryp, Wingate, Hawthorn
กลุ่ม Wyndham ไม่ค่อยสนใจทำตลาดในบ้านเราและฝั่งเอเชียเท่าไรนัก เท่าที่ทราบมีโรงแรมเดียวคือ Ramada Bangkok สาขาสุขุมวิท 12 เพิ่งมาเปิดในปี 2010
คุณสามารถติดตามข้อมูลการท่องเที่ยวจากเรา ที่ facebook “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางครับ