รวมเทคนิคแก้ปัญหานอนไม่หลับจาก Jetlag เปลี่ยนเขตเวลา

Photo: Peng Zhang / Flickr
Photo: Peng Zhang / Flickr

ปัญหา Jetlag หรือภาวะร่างกายปรับเวลาไม่ทันจากการเดินทางข้ามเขตเวลา จนส่งผลให้เหน็ดเหนื่อยง่วงเหงาในช่วงกลางวัน และนอนไม่หลับในตอนกลางคืน

คนทั่วไปมักคิดว่าปัญหา Jetlag มักเกิดเมื่อเราเปลี่ยนเขตเวลา (timezone) เยอะมากๆ เช่น เดินทางครึ่งโลก กลับจากกลางวันเป็นกลางคืน แต่จริงๆ แล้วแค่เปลี่ยนเขตเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็เกิดภาวะ Jetlag ได้เช่นกัน

ไม่มีใครอยากให้เกิด Jetlag เพราะเที่ยวไม่สนุก-ทำงานได้ไม่เต็มที่ เว็บไซต์ The New York Times จึงสอบถาม Dr. Charles Czeisler ผู้อำนวยการฝ่ายภาวะนอนหลับผิดปกติของ Brigham and Women’s Hospital ในบอสตัน เพื่อขอคำแนะนำในการเตรียมพร้อมรับมือกับ Jetlag ดังนี้

Photo: michael davis-burchat / Flickr
Photo: michael davis-burchat / Flickr

เตรียมปรับเวลาร่างกายก่อนเดินทาง

เราควรปรับร่างกายตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนเขตเวลาทีละน้อย ในช่วง 1-2 วันก่อนออกเดินทาง เช่น ถ้าเดินทางไปในเขตเวลาที่ช้ากว่าเรา ก็อาจนอนให้ดึกกว่าเดิมวันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้เราปรับเวลาได้ง่ายขึ้น

อาจใช้เมลาโทนินช่วยให้นอนได้ง่ายขึ้น

เมลาโทนิน (melatonin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยปรับสมองให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เราเดินทางข้ามโซนเวลาเยอะมากๆ อาจใช้วิธีกินเมลาโทนินช่วย โดยรับประทานก่อนเวลาที่ต้องการนอนประมาณครึ่งชั่วโมง

อยู่ในที่โดนแสงสว่าง

ร่างกายของเราจะปรับตัวตามแสงอาทิตย์ ดังนั้นเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว การอยู่ข้างนอกให้ร่างกายรับแสงธรรมชาติจะช่วยให้นาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ของเราปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่าการอยู่แต่ในห้องของโรงแรม

สำหรับคนที่อยากรู้ว่าควรอยู่ในสภาพแสงแบบไหน อาจใช้แอพ Entrain ซึ่งเป็นแอพฟรีของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ที่คอยให้คำแนะนำเรื่องนี้

นอนงีบระยะสั้นๆ เพื่อพักผ่อนได้

คำสอนที่บอกต่อๆ กันมาในหมู่นักเดินทางข้ามโซนเวลาคือ ควรฝีนไม่นอนหลับตามจังหวะที่เราง่วง เพื่อให้ปรับเวลาได้ แต่ Dr. Czeisler ก็แนะนำว่าการนอนพักระยะสั้นๆ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จะช่วยให้เรามีพลังให้ตื่นอยู่ได้ทั้งวัน ก่อนจะไปนอนยาวๆ ในช่วงกลางคืน

อาหารก็มีผลต่อการนอนหลับ

อาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินย่อมมีผลต่อการนอนหลับของเรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนช่วยให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ได้ แต่การกินคาเฟอีนมากไปจะมีผลต่อการนอนในเวลากลางคืน เพราะปริมาณคาเฟอีนประมาณครึ่งหนึ่งที่เรารับเข้าไปจะอยู่ในร่างกายเราไปอีก 6-9 ชั่วโมง

คำแนะนำอีกอย่างคือไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรืออาหารมื้อหนักๆ ช่วงใกล้เข้านอน


Posted

in

,

by

Tags: