พาชิม Lei Garden สาขา North Point มิชลินหนึ่งดาวคุณภาพ

ร้านอาหารที่คนไทยรู้จักกันดีเมื่อมาฮ่องกง และมีสาขากระจายตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ทั่วฮ่องกง ย่อมหนีไม่พ้นร้านดังอย่าง Lei Garden ซึ่งหลายสาขาได้รับดาวมิชลินมาอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสที่ทีมงาน 2baht.com เดินทางไปฮ่องกงพอดี เลยมีโอกาสได้ไปชิม โดยครั้งนี้เลือกสาขา North Point ฝั่งเกาะฮ่องกงครับ (ใกล้ๆ กับ Tim Ho Wan ที่รีวิวไปแล้ว)

ที่มาของ Lei Garden

หน้าร้านของ Lei Garden สาขา North Point
หน้าร้านของ Lei Garden สาขา North Point

Lei Garden เป็นภัตตาคารที่ขายอาหารจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งติ่มซำ สำนักข่าวอย่าง CNN เคยจัดว่าเป็นร้านที่มีติ่มซำดีมากและไม่ควรพลาดของเกาะฮ่องกง

ประวัติของร้านคือก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 โดยเชฟ Chan Shu Kit ซึ่งเกิดที่กวางโจว ประเทศจีน ก่อนไปเรียนที่ไต้หวันและสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาที่ฮ่องกง และประกอบอาชีพเป็นครูอยู่พักหนึ่ง จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดร้าน Lei Garden สาขาแรกที่ย่าน Shamshuipo และขยายสาขามาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้

ปัจจุบัน Lei Garden มีสาขาทั้งหมด 24 แห่ง มีทั้งในเกาะฮ่องกงและเมืองต่างๆ ทั้งในจีนและต่างประเทศ (เช่น สิงคโปร์, เฉิงตู, มาเก๊า เป็นต้น) แต่ไม่ใช่ทุกสาขาจะได้ดาวมิชลิน โดยสาขาในฮ่องกงมีเพียง 5 จาก 10 สาขาเท่านั้นที่ได้ดาว (และเป็นดาวมิชลิน 1 ดวงทั้งหมด)

สาขาทั้ง 5 แห่งได้แก่ Kowloon Bay, Mong Kok, North Point, Wan Chai และ Kwun Tong (อ้างอิง HK Magazine) ดังนั้นใครอยากตามล่าดาวมิชลิน ต้องมาที่สาขาเหล่านี้เท่านั้น

การเดินทางมาร้าน

เพื่อความต่อเนื่องจากการเดินทางไปร้าน Tim Ho Wan ทีมงานเลยตัดสินใจทานที่สาขา North Point บนฝั่งเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นสาขาที่ได้ดาวมิชลินตามข้อมูลในการจัดอันดับปีล่าสุดครับ

ข้อมูลของ Lei Garden สาขา North Point

  • เปิดบริการทุกวัน 11:30 น. – 15:00 น. (มื้อเที่ยง), 18:00 น. – 23:30 น. (มื้อค่ำ)
  • หมายเลขโทรศัพท์ 2806 0008
  • สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด สถานี Fortress Hill (MTR สายสีน้ำเงิน Island Line) ทางออก A แล้วเดินลัดเลาะมุ่งหน้าไปยัง North Point โดยใช้ King’s Road เลี้ยวซ้ายเข้า Fortress Hill Road จากนั้นจึงเลี้ยวขวาเข้า City Garden Road อีกทีหนึ่ง (ร้านจะอยู่ถึงก่อน Tim Ho Wan และอยู่ในหมู่ตึก City Garden ที่มีสวนสาธารณะขนาดเล็กคั่น)
  • ราคาโดยประมาณ 150 ดอลลาร์ฮ่องกง (เฉลี่ยต่อท่าน)

บรรยากาศและอาหาร

เมื่อเดินทางมาถึงร้าน ตามธรรมเนียมของร้านอาหารที่นี่ก็ควรมาให้ครบจำนวนคนแล้วค่อยเข้าร้านไปพร้อมกัน เมื่อมาครบแล้ว แจ้งให้พนักงานหน้าร้านทราบว่ามากี่คน จากนั้นพนักงานจะให้คูปองมาหนึ่งใบ บอกจำนวนโต๊ะที่เราต้องใช้ (เผอิญรอบนี้ไปคนเดียว) เดินขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งให้พนักงานจัดโต๊ะให้เราตามความต้องการ

บรรยากาศร้าน

เนื่องจาก Lei Garden ถือว่าเป็นร้านราคาค่อนข้างแพง (ราคาเฉลี่ยถือว่าสูงกว่าร้านอื่นในฮ่องกงโดยทั่วไป) เราย่อมได้โต๊ะที่เป็นส่วนตัว (ไม่ต้องนั่งปนกับคนอื่น) รวมถึงการบริการที่ไม่ต่างจากร้านอาหารจีนชั้นดีแบบที่เราคุ้นเคยกัน และการตกแต่งภายในที่สวยงาม

อุปกรณ์การทานอาหารถูกจัดเตรียมเอาไว้อย่างดี ไม่ต้องมีการใช้น้ำร้อนลวกเหมือนร้านอื่นๆ ในฮ่องกง อันนี้คนไทยคงชอบเพราะคล้ายๆ กับบ้านเราพอสมควร

เราเลือกอาหารไปสองจาน คือ ขนมหัวผักกาด และ หมูกรอบ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็มาเสิร์ฟจนครบครับ (ถือว่ารวดเร็วมากกว่าที่คิด)

ขนมหัวผักกาด
ขนมหัวผักกาด
ขนมหัวผักกาด
ขนมหัวผักกาด

สำหรับจานแรกเป็น ขนมหัวผักกาด (รู้จักกันในนาม ขนมหัวไช้เท้า หรือในชื่อจีนคือ ไช้เท้าก้วย) ถือเป็นหนึ่งในของกินแบบคาวของจีน ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีกระบวนการวิธีทำแตกต่างกันไป

ตามปกติ ขนมหัวผักกาด จะทำโดยนำหัวไช้เท้าบดมาผสมเข้ากับแป้ง กุ้งแห้ง และส่วนผสมอื่นๆ (เช่น หอยเชลล์อบแห้ง ถั่วลิสง กุนเชียง) ก่อนนำไปนึ่งเพื่อให้ขึ้นรูป แล้วนำมาจี่บนกระทะร้อน เพื่อให้ได้ความกรอบด้านนอก แต่ยังคงความนุ่มด้านใน ถือเป็นอาหารที่ทำยากจานหนึ่ง โดยเฉพาะการรักษาสมดุลระหว่างเนื้อแป้งกับหัวไช้เท้า ตามปกติจะใช้หัวไช้เท้าช่วงหน้าแล้ง (หน้าหนาว – หน้าร้อน) เพื่อให้ได้เนื้อที่แน่นและไม่แฉะจนเกินไปครับ

ในแต่ละภูมิภาคจะเสิร์ฟขนมไช้เท้าก๊วยพร้อมน้ำจิ้มแตกต่างกันไป อย่างเช่นที่ Lei Garden เป็นสูตรกวางตุ้ง จะเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มพริก (ใกล้เคียงกับพริกศรีราชา) ส่วนแบบแต้จิ๋ว จะใช้น้ำจิ้มที่เป็นคาราเมลจากน้ำตาลทรายแดงครับ

แม้ชื่อจะเรียกว่าขนม แต่อันที่จริงแล้วจานนี้ไม่ใช่ขนมแต่ประการใด โดยจัดเป็นหนึ่งในของคาวของติ่มซำด้วยซ้ำ ทว่าในภาษาจีน คำว่า “ก้วย” นั้น ครอบคลุมถึงสิ่งที่ทำจากแป้งและเป็นได้ทั้งคาวและหวาน ตัวอย่างเช่น อิ่วจาก้วย (สำเนียงแบบแต้จิ๋ว ซึ่งก็คือปาท่องโก๋ในบ้านเรา) เป็นต้น

จานนี้ของ Lei Garden (32+ ดอลลาร์ฮ่องกง) ถือว่าทำรสชาติออกมาได้มาตรฐาน ตัวเนื้อสัมผัสค่อนข้างนุ่มและสังเกตได้อย่างชัดเจนว่ามีส่วนผสมของแป้งที่ ค่อนข้างมากอยู่ รสชาติไม่เค็มมากเท่าที่คิด และมีความหวานแฝงขึ้นมาด้วย (เดาว่าจากกุนเชียงที่ใช้)

หมูกรอบ
หมูกรอบ พร้อมมัสตาร์ด
หมูกรอบ
หมูกรอบ
หมูกรอบ
หมูกรอบ แบบชัดๆ

จานต่อไปเป็น หมูกรอบ (ภาษาจีนคือ Siu Yuk) หนึ่งในจานสำคัญของอาหารฮ่องกง หมูกรอบของร้าน Lei Garden จะเสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มที่เป็นมัสตาร์ด (สีเหลือง)

สิ่งที่โดดเด่นที่สุด (ซึ่งสะท้อนความเป็นหมูกรอบที่แท้จริงของฮ่องกง) คือหนังที่กรอบมาก (กัดแล้วได้ยินเสียง “กร๊อบ”) ส่วนตัวเนื้อยังรักษาความนุ่มนวลและไม่มันมากเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน หมูกรอบของ Lei Garden จะทำหนังกรอบรสค่อนข้างเค็ม แต่เนื้อจะมีรสชาติที่อ่อนกว่า (ติดไปทางจืด) โดยภาพรวมถือว่าทำได้ดี

ต้องอธิบายว่า หมูกรอบจริงๆ แล้ว เป็นอาหารที่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องเอาไปอบหรือย่าง เพื่อให้ได้หมูที่มีหนังกรอบ โดยอาศัยไขมันที่อยู่ภายในหนังหมูทำให้กรอบ แทนการใช้น้ำมันทอดแบบในบ้านเรา

การทำหมูกรอบมีหลายวิธีและหลายสูตร แต่หลักการทั่วไปคือ ก่อนย่างหรืออบ หนังหมูต้องแห้ง อย่ามีความชื้นเป็นอันขาด ส่วนจะใช้วิธีการใด (เช่น โปะเกลือหนาบนผิว หรือใช้ลมร้อนเป่า) ก็สุดแท้แต่สูตรของแต่ละคนครับ

ส่วนน้ำจิ้มก็แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค หากเป็นฮ่องกงจะใช้มัสตาร์ด ส่วนถ้าเป็นกวางโจวจะใช้น้ำตาลธรรมดาเป็นตัวจิ้มแทน

อนึ่ง หมูกรอบจัดเป็นหนึ่งในอาหารที่มีราคาค่อนข้างแพงในฮ่องกง บางร้านขายแพงกว่าข้าวหน้าห่านย่างด้วยซ้ำไป

สรุปรีวิว

โดยภาพรวมของ Lei Garden ถือว่าทำอาหารจีนออกมาได้มาตรฐาน วัตถุดิบที่เลือกมาใช้ได้ดี รสชาติถือว่าทำได้ดี การบริการรวดเร็วและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ โดยรวมไม่มีอะไรให้ต้องติครับ

จุดที่ควรทราบก่อนไปกินคือ ราคาของร้าน Lei Garden สูงกว่าร้านอาหารฮ่องกงทั่วไป แม้แต่ร้านมิชลินด้วยกันเอง (รีวิวนี้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว บิลอยู่ที่ 150 ดอลลาร์ฮ่องกงโดยประมาณ)  นอกจากอาหารราคาสูงแล้ว จานยังมีขนาดเล็ก (หมูกรอบมีเพียง 12 ชิ้นเล็กๆ เท่านั้นเอง แต่ราคาปาไปถึง 118+ ดอลลาร์ฮ่องกง) และคิดค่าบริการอีก 10% ด้วย